Custom Search

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปรากฏการณ์เรือนกระจก

ปรากฏการณ์เรือนกระจก ( Greenhouse Effect )

    ปรากฏการณ์เรือนกระจก หมายถึง สภาพที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซต่าง ๆ ในบรรยากาศผิวโลกมีปริมาณเกินภาวะสมดุล ทำให้เกิดปรากฏการณ์คล้ายกระจกหลังคาที่หุ้มเรือนกระจก และทำให้อุณหภูมิระหว่างผิวโลกกัฐก๊าซดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและดินฟ้าอากาศของโลก

สาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก
การพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีผลต่อการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก สู่บรรยากาศมากขึ้น ก๊าซเรือนกระจกที่ควรรู้จักมีดังนี้

1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO )
คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นก๊าซที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศตลอดเวลา จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้การทำลายพื้นที่ป่าไม้ยังเป็น การเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากขาดต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทีเกิด จากการ เผาไหม้ทำให้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหลืออยู่มากในบรรยากาศ

2. ก๊าซคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ( Chiorofluorocarbons, CFC )
ก๊าซ ซีเอฟซีมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาใช้กันมาก คือ ซีเอฟซี 11 ซีเอฟซี 12 ซีเอฟซี 22 เป็นก๊าซที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นสารขับดันในกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ เช่น สเปรย์ปรับอากาศ สีกระป๋อง เมื่อมนุษย์นำสารซีเอฟซี ขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมหรือนำผลิตภัณฑ์มาใช้ สารซีเอฟซี จะระเหยเป็นไอลอยสู่บรรยากาศและจะดูดกลืนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานกว่า 100 ปี และมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 หมื่นเท่า

    ปัญหาอีกประการคือ ซีเอฟซี จะลดปริมาณโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ปกติโอโซนในชั้นนี้จะทำหน้าที่ดูดกลืน รังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ไม่ให้ผ่านทะลุมายังพื้นโลก เมื่อโอโซนลดลง รังสีอัลตราไวโอเลตถูกปล่อยลงสู่พื้นโลกมากขึ้นอาจส่งผลต่อมนุษย์โดยทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ตาเป็นต้อกระจก
     นอกจากก๊าซทั้งสองชนิดที่กล่าวมานี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และโอโซน ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีค่าเก็บกักความร้อนเป็น 30 150 และ 2,000 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ตามลำดับ โดยมีเทนเป็นก๊าซที่เกิด จากบ่อถ่านหินหลุมก๊าซธรรมชาติ จากการเผาอินทรีย์สาร การฝังขยะ และจากการสลายตัวของสารอินทรีย์แบบไม่มีอากาศ
( Anaerobic ) รวมทั้งการทำนาข้าว ส่วน ไรตรัสออกไซด์เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้มวลชีวภาพ สำหรับโอโซนเกิดจากปฏิกิริยาของก๊าซมลภาวะต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนโตรเจนออกไซด์กับแสงอาทิตย์

 

 

ผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจก

ผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ มีดังนี้

1. ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 0.8 องศาเซลเซียสต่อระยะ 10 ปี ทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง แต่ทะเลทรายเพิ่มขึ้น

2. ฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในเขตเมืองหนาว ฤดูหนาวจะสั้นลง ฝนตกมากขึ้น ฤดูร้อนจะยาวมากขึ้น อากาศจะร้อนและแห้งแล้ง ส่วนเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน บริเวณที่แห้งแล้งจะแห้งแล้งมากขึ้น ดินเสื่อมคุณภาพมากขึ้น บริเวณที่ชุ่มชื้นจะมีฝนมากขึ้น พายุรุนแรงและเกิดอุทกภัยบ่อยขึ้น

3. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น ปริมาณของน้ำทะเล ประกอบกับน้ำจากขั้วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นสาเหตุของการพังทลายบริเวณชายฝั่ง ระบบชลประทาน และการระบายน้ำได้รับความเสียหาย เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มในผิวดิน แม่น้ำ พื้นที่ไร่นา ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านการเพาะปลูก และอุตสาหกรรมชายทะเล นอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้บริเวณหาดทรายหรือเกาะต่าง ๆ จมหายไปใต้น้ำ เกิดภาวะน้ำท่วม ปัญหามลพิษทางน้ำ

4. ผลผลิตทางการเกษตรลดลงหรือต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะสภาพดินฟ้า อากาศ และพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ความเหมาะสมลดลง มีการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากขึ้น เกิดความเสียหายทางการเกษตร อาหารจะขาดแคลน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม

5. สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ถูกทำลายไปจากโลก เป็นผลจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะเกิดความแห้งแล้ง ดินเค็ม น้ำท่วม ทำให้แหล่งกำเนิดและถิ่นที่อยู่อาศัยของพืช สัตว์ แมลง และจุลินทรีย์ถูกทำลายลงทุกที และบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก

6. เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยจะทำให้เป็นมะเร็งที่ผิวหนังมากขึ้น