Custom Search

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การจัดองค์ประกอบของศิลปะ

การจัดองค์ประกอบของศิลปะ มีหลักที่ควรคำนึง   อยู่ 5 ประการ คือ


 1.  สัดส่วน (Proportion)

     สัดส่วน หมายถึง  ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างขนาดของ  องค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง  ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย     ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่
 มากไม่น้อย ขององค์ประกอบทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ  พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้ 

    1.1  สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์  พืช ซึ่งโดยทั่วไป  ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ  จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด      หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ  สร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า  "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า  ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม"  ทำให้สิ่งต่าง ๆ  ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว


    1.2  สัดส่วนจากความรู้สึก    โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง  อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึง  เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย  สัดส่วนจะช่วย  เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่น  นี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ  ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น   กรีก    นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น  อุดมคติ เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง    จึงแสดงถึงความเหมือน  จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกันดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น
 รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป


 2. ความสมดุล (Balance)

     ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ  ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  ในทางศิลปะยังรวมถึงความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ   ลงใน งานศิลปกรรมนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น   ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน
    ฉะนั้น  ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป  หรือ เบา  บางไปก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง   และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม  ดุลยภาพในงานศิลปะ มี  2 ลักษณะ คือ


  1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน   คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล    เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน   ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ   ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ


  2. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือน   กัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์   ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่   เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน  แต่มีความสมดุลกัน   อาจเป็นความสมดุลด้วย   น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้  การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ   สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย    เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า   หรือ   เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน  จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาด  เล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา


 3. จังหวะลีลา (Rhythm)

    จังหวะลีลา  หมายถึง  การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ  โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ  หรือเกิดจาก การเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก

        รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย  การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ   กันทำให้เกิดจังหวะ   และถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกันออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย   ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย  แต่จังหวะของลายเป็นจังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ   รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน   แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน   สัตว์  การเติบโตของพืช  การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล   ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย


  
        เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ ที่ตายตัว  แต่งานศิลปะแต่ละชิ้นจะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งาน ศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน   ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน งานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง ไม่ต่าง อะไรกับลวดลายที่มองเห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตาแก่ผู้ชม 

 4. การเน้น (Emphasis)

 การเน้น หมายถึง  การกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ   เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ  และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน  ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆ
ที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสียงานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน  จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจดังนั้น  ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้ผลงานมีความงาม สมบูรณ์ ลงตัว และน่าสนใจมากขึ้น การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้  3  วิธี คือ 
 

  1. การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน (Emphasis by Contrast) สิ่งที่แปลกแตก   ต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน จะเป็นจุดสนใจ ดังนั้น การใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะ   แตกต่าง หรือขัดแย้ง กับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้อง
  พิจารณาลักษณะความแตกต่างที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในส่วนรวม   และทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่  โดยต้องคำนึงว่า แม้มีความขัดแย้ง แตก   ต่างกันในบางส่วน และในส่วนรวมยังมีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน

  2. การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation)  เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยก   ออกไปจากส่วนอื่น ๆ ของภาพ หรือกลุ่มของมัน สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดสนใจ   เพราะเมื่อ   แยกออกไปแล้วก็จะเกิดความสำคัญขึ้นมา   ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่าง    ที่ไม่ใช่แตก
  ต่างด้วยรูปลักษณะ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งที่จัดวาง  ซึ่งในกรณีนี้ รูปลักษณะนั้นไม่   จำเป็นต้องแตกต่างจากรูปอื่น   แต่ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป    จึงกลายเป็น   จุดสนใจขึ้นมา

  3. การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่น ๆ   ชี้นำมายังจุดใด ๆ จุดนั้นก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา     และการจัดวางตำแหน่งที่   เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้เช่นกัน

    พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้อง   ระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมา   ดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน  การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์
  ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น  สี แสง-เงา  รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว   ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์

 5. เอกภาพ (Unity)

   เอกภาพ  หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ   และด้านเนื้อหาเรื่องราว  เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป
    การสร้างงานศิลปะ คือ  การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน  ความยุ่งเหยิง  เป็นการจัดระเบียบ   และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กัน
เอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่  2 ประการ คือ

 1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมี   ความเรียบง่าย  งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสน   ขาดเอกภาพ  และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้   เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้
 2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบ   ทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน   ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ   เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว  ความคิด และอารมณ์  ดังนั้น  กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ  ซึ่งมีอยู่ 2   หัวข้อ  คือ 

     1. กฎเกณฑ์ของการขัดแย้ง (Opposition) มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ
          1.1 การขัดแย้งขององค์ประกอบทางศิลปะแต่ละชนิด  และรวมถึงการขัดแย้งกันของ
  องค์ประกอบต่างชนิดกันด้วย
          1.2 การขัดแย้งของขนาด
          1.3 การขัดแย้งของทิศทาง
          1.4 การขัดแย้งของที่ว่างหรือ จังหวะ
      2. กฎเกณฑ์ของการประสาน (Transition) คือ การทำให้เกิดความกลมกลืน ให้สิ่งต่าง ๆ   เข้ากันด้อย่างสนิท      เป็นการสร้างเอกภาพจากการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน  การประสานมีอยู่  2   วิธี  คือ

          2.1 การเป็นตัวกลาง (Transition) คือ  การทำสิ่งที่ขัดแย้งกันให้กลมกลืนกัน ด้วยการ   ใช้ตัวกลางเข้าไปประสาน  เช่น สีขาว กับสีดำ ซึ่งมีความแตกต่าง ขัดแย้งกันสามารถทำให้  อยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ   ด้วยการใช้สีเทาเข้าไปประสาน  ทำให้เกิดความกลมกลืนกัน   มากขึ้น
          2.2 การซ้ำ (Repetition)  คือ การจัดวางหน่วยที่เหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป  เป็น
  การสร้างเอกภาพที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำให้ดูจืดชืด น่าเบื่อที่สุด 
      
        นอกเหนือจากกฎเกณฑ์หลักคือ การขัดแย้งและการประสานแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รอง
   อีก 2 ข้อ คือ

        1. ความเป็นเด่น (Dominance)  ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ
            1.1 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการขัดแย้ง ด้วยการเพิ่ม หรือลดความสำคัญ   ความน่าสนใจ  ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งของคู่ที่ขัดแย้งกัน
             1.2 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการประสาน

        2. การเปลี่ยนแปร (Variation) คือ การเพิ่มความขัดแย้งลงในหน่วยที่ซ้ำกัน เพื่อป้องกัน   ความจืดชืด น่าเบื่อ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปรมี  4  ลักษณะ คือ

           2.1 การปลี่ยนแปรของรูปลักษณะ
           2.2 การปลี่ยนแปรของขนาด
           2.3 การปลี่ยนแปรของทิศทาง
           2.4 การปลี่ยนแปรของจังหวะ

            การเปลี่ยนแปรรูปลักษณะจะต้องรักษาคุณลักษณะของการซ้ำไว้ ถ้ารูปมีการเปลี่ยน   แปรไปมาก  การซ้ำก็จะหมดไป  กลายเป็นการขัดแย้งเข้ามาแทน และ  ถ้าหน่วยหนึ่งมีการ   เปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว   มีความแตกต่างจากหน่วยอื่น ๆ มาก   จะกลายเป็นความเป็นเด่น  เป็นการสร้างเอกภาพด้วยความขัดแย้ง

 

แม่สี  Primary Colour

      แม่สี คือ สีที่นำมาผสมกันแล้วทำให้เกิดสีใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสีเดิม

 แม่สี มือยู่  2 ชนิด คือ

    1. แม่สีของแสง เกิดจากการหักเหของแสงผ่านแท่งแก้วปริซึม มี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน อยู่ในรูปของแสงรังสี  ซึ่งเป็นพลังงานชนิดเดียวที่มีสี  คุณสมบัติของแสงสามารถนำมาใช้ ในการถ่ายภาพ ภาพโทรทัศน์ การจัดแสงสี ในการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น (ดูเรื่อง แสงสี )
    2. แม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์โดยกระบวน ทางเคมี มี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน แม่สีวัตถุธาตุเป็นแม่สีที่นำมาใช้ งานกันอย่างกว้างขวาง ในวงการศิลปะ  วงการอุตสาหกรรม ฯลฯ
    แม่สีวัตถุธาตุ เมื่อนำมาผสมกันตามหลักเกณฑ์ จะทำให้เกิด วงจรสี ซึ่งเป็นวงสี ธรรมชาติ เกิดจากการผสมกันของแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีหลักที่ใช้งานกันทั่วไป ใน วงจรสี จะแสดงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
 

วงจรสี   ( Colour Circle)

circle11

   สีขั้นที่ 1 คือ แม่สี ได้แก่ สีแดง   สีเหลือง  สีน้ำเงิน
  
   สีขั้นที่ 2 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะทำให้  เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ 

                   สีแดง ผสมกับสีเหลือง  ได้สี ส้ม
                   สีแดง ผสมกับสีน้ำเงิน  ได้สีม่วง
                   สีเหลือง ผสมกับสีน้ำเงิน  ได้สีเขียว
  
   สีขั้นที่ 3 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่น ๆ   อีก 6  สี คือ

                   สีแดง ผสมกับสีส้ม  ได้สี ส้มแดง
                   สีแดง ผสมกับสีม่วง  ได้สีม่วงแดง
                   สีเหลือง ผสมกับสีเขียว ได้สีเขียวเหลือง
                   สีน้ำเงิน ผสมกับสีเขียว  ได้สีเขียวน้ำเงิน
                   สีน้ำเงิน ผสมกับสีม่วง  ได้สีม่วงน้ำเงิน
                   สีเหลือง ผสมกับสีส้ม ได้สีส้มเหลือง
  
   วรรณะของสี คือสีที่ให้ความรู้สึกร้อน-เย็น ในวงจรสีจะมีสีร้อน 7 สี และ สีเย็น 7 สี ซึ่งแบ่งที่ สีม่วงกับสีเหลือง ซึ่งเป็นได้ทั้งสองวรรณะ
  
   สีตรงข้าม หรือสีตัดกัน หรือสีคู่ปฏิปักษ์ เป็นสีที่มีค่าความเข้มของสี ตัดกันอย่าง  รุนแรง ในทางปฏิบัติไม่นิยมนำมาใช้ร่วมกัน เพราะจะทำให้แต่ละสีไม่สดใส  เท่าที่ควร  การนำสีตรงข้ามกันมาใช้ร่วมกัน อาจกระทำได้ดังนี้

     1. มีพื้นที่ของสีหนึ่งมาก อีกสีหนึ่งน้อย
     2. ผสมสีอื่นๆ ลงไปสีสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสี
     3. ผสมสีตรงข้ามลงไปในสีทั้งสองสี
  
  สีกลาง คือ สีที่เข้าได้กับสีทุกสี สีกลางในวงจรสี มี 2 สี คือ สีน้ำตาล กับ สีเทา  สีน้ำตาล เกิดจากสีตรงข้ามกันในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน สีน้ำตาลมี  คุณสมบัติสำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่นแล้วจะทำให้สีนั้น ๆ เข้มขึ้นโดยไม่เปลี่ยน  แปลงค่าสี ถ้าผสมมาก ๆ เข้าก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล    สีเทา เกิดจากสีทุกสี ๆ สีในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนเท่ากัน สีเทา มีคุณสมบัติ  ที่สำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่น ๆ แล้วจะทำให้ มืด หม่น ใช้ในส่วนที่เป็นเงา ซึ่งมีน้ำหนัก อ่อนแก่ในระดับต่าง ๆ ถ้าผสมมาก ๆ เข้าจะกลายเป็นสีเทา

คุณลักษณะของสี

    คุณลักษณะของสี เป็นการใช้สีในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเกิดความสวยงาม และความรู้สึกต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้สร้าง คุณลักษณะของสีที่ใช้ โดยทั่วไป มีดังนี้ คือ

    สีเอกรงค์  (Monochrome) เป็นการใช้สีเพียงสีเดียว แต่มีหลาย ๆ  น้ำหนัก ซึ่งไล่เรียงจากน้ำหนักอ่อนไปแก่ เป็นการใช้สีแบบดั้งเดิม ภาพ จิตรกรรมไทย แบบดั้งเดิมจะเป็นลักษณะนี้ ต่อมาเมื่อมีการใช้สีอื่น ๆ  เข้ามาประกอบมากขึ้น ทำให้มีหลายสี ซึ่งเรียกว่า "พหุรงค์" ภาพแบบสี เอกรงค์ มักดูเรียบ ๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ

   วรรณะของสี  (Tone) สีมีอยู่ 2 วรรณะ คือ วรรณะสีร้อน และ สีเย็น  สีร้อนคือสีที่ดูแล้วให้ความรู้สึกร้อน สีเย็นคือสีที่ดูแล้วรู้สึกเย็น ซึ่งอยู่ใน วงจรสี สีม่วงกับสีเหลืองเป็นได้ทั้งสีร้อนและสีเย็น แล้วแต่ว่าจะอยู่กับกลุ่ม สีใด การใช้สีในวรรณะเดียวกันจะทำให้เกิดรู้สึกกลมกลืนกัน การใช้สี ต่างวรรณะจะทำให้เกิดความแตกต่าง ขัดแย้ง การเลือกใช้สีในวรรณะ ใด ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการ และจุดมุ่งหมายของงาน 

   ค่าน้ำหนักของสี  (Value of colour) เป็นการใช้สีโดยให้มีค่าน้ำหนัก ในระดับต่าง ๆ กัน และมีสีหลาย ๆ สี ซึ่งถ้าเป็นสีเดียว ก็จะมีลักษณะเป็น สีเอกรงค์ การใช้ค่าน้ำหนักของสี จะทำให้เกิดความกลมกลืน เกิดระยะ ใกล้ไกล ตื้นลึก ถ้ามีค่าน้ำหนักหลาย ๆ ระดับ สีก็จะกลมกลืนกันมากขึ้น  แต่ถ้ามีเพียง1 - 2 ระดับที่ห่างกัน จะทำให้เกิดความแตกต่าง

  
    ความเข้มของสี  (Intensity) เกิดจาก สีแท้ คือสีที่เกิดจากการผสมกัน  ในวงจรสี เป็นสีหลักที่ผสมขึ้นตามกกฎเกณฑ์และไม่ถูกผสมด้วยสีกลาง หรือสีอื่น ๆ จะมีค่าความเข้มสูงสุด หรือแรงจัดที่สุด เป็นค่าความแท้ของสี ที่ไม่ถูกเจือปน เมื่อสีเหล่านี้ อยู่ท่ามกลางสีอื่น ๆ ที่ถูกผสมให้เข้มขึ้น หรือ อ่อนลง ให้มืด หม่น หรือเปลี่ยนค่าไปแล้ว สีแท้จะแสดงความแรงของสี ปรากฎออกมาให้เห็น อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงาน ลักษณะเช่นนี้ เหมือนกับ ดอกเฟื่องฟ้าสีชมพูสด ๆ หรือบานเย็น ที่อยู่ท่ามกลางใบเฟื่องฟ้าที่เขียวจัด ๆ หรือ พลุที่ถูกจุดส่องสว่างในยามเทศกาล ตัด กับสีมืด ๆ ทึบ ๆ ทึมๆ ของท้องผ้ายามค่ำคืน เป็นต้น


   สีส่วนรวม (Tonality) เป็นลักษณะที่มีสีใดสีหนึ่ง หรือกลุ่มสีชุดหนึ่งที่ใกล้ เคียงกัน มีอิทธิพลครอบคลุม สีอื่น ๆ ที่อยู่ในภาพ เช่น ในทุ่งดอกทานตะวัน ที่กำลังออกดอกชูช่อบานสะพรั่ง สีส่วนรวมก็คือ สีของดอกทานตะวัน หรือ บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลในสนาม ถึงแม้ผู้เล่นทั้งสองทีมจะแต่งกาย ด้วยเสื้อผ้า หลากสีต่างกันก็ตาม แต่ สีเขียวของสนามก็จะมีอิทธิพลครอบ คลุม สีต่าง ๆ ทั้งหมด สีใดก็ตามที่มีลักษณะเช่นนี้  เป็นสีส่วนรวมของภาพ การใช้สีในยุคสมัยต่าง ๆ

อียิปต์โบราณ

      ในสมัยอียิปต์โบราณ   การใช้สีมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรม   และเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาการระบายสีไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงทางทัศนียวิทยา หรือหลักความเป็นจริง เป็นภาพที่ไม่มีแสงเงา เป็นรูปแบนระบายสีที่สว่างสดใส มองเห็นชัดเจน โดยใช้เทคนิคสีฝุ่นผสมไข่ขาว (egg tempera) หรือใช้ไข่ขาวเคลือบบนผิวที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมน้ำ

กรีกโบราณ

      ผลงานในสมัยกรีกโบราณ  ที่เห็นชัดเจนจะได้แก่งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม จะพบเห็น งานจิตรกรรมค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยปรากฏงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่จะพบในงานวาดภาพระบายสี ตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา จะนิยมใช้สีเพียง 2 - 3 สี คือ ขาว เหลือง แดง และเคลือบดำ 

โรมันโบราณ

      นิยมสร้างภาพบนผนังและพื้นห้องประดับด้วยโมเสค (Mosaic)  สำหรับการวาดภาพใช้เทคนิค ผสมไข (Encaustic painting) ซึ่งเป็นการใช้สีผสมกับไขระบายในขณะที่ยังร้อน ๆ จากการค้นพบ หลักฐานผลงานในสมัยโรมันหลาย ๆ แห่ง นิยมสร้างเป็นภาพในเมือง   ชนบท ภูเขา ทะเล การต่อสู้  กิจกรรมของพลเมือง การค้าขาย  กีฬา เรื่องเกี่ยวกับนินายปรัมปรา และประวัติศาสตร์

คริสเตียนยุคแรก

     ในยุคไบเซนไทน์ (Bizentine) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของคริสเตียนนิยมสร้างภาพโดยใช้โมเสค กระจก( Glass  Mosaic) ทำเป็นภาพบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ประดับตกแต่งภายในโบสถ โดยมากมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงความศรัทธาอย่างสูงต่อศาสนาคริสต์

การใช้สีในจิตรกรรมไทย

     จิตรกรรมไทย เป็นงานวิจิตรศิลป์ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ  สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม อันดีงามของชาติ  มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดี จิตรกรรมไทยแบ่งออกได้  2  ประเภท  คือ 
       1 จิตรกรรมไทยแบบประเพณี (Thai Traditional painting) เป็นงานจิตรกรรมที่แสดงความรู้สึกชีวิตจิตใจ และความเป็นไทย ที่มีความละเอียด  อ่อนช้อยงดงาม สร้างสรรค์สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต  และสังเคราะห์จนได้ ลักษณะประจำชาติ ที่มีรูปแบบเป็นพิเศษเฉพาะตัว เป็นงานศิลปะในแบบอุดมคติ  (Idialistic Art)     นิยมเขียน เป็นภาพที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวต่าง ๆ คือ
            1.1   พุทธประวัติ และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ
            1.2   พงศาวดาร  ตำนาน เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  เรื่องคตินิยมอันเป็นมงคล
            1.3   วิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ
            ลักษณะของผลงานเป็นภาพจิตรกรรม      ระบายสีแบนเรียบด้วยสีที่ค่อนข้างสดใส    แล้วตัดเส้นมีขอบ ที่คมชัด  ให้ความรู้สึกเป็นภาพ  2  มิติ  มีลักษณะในการจัดวางภาพแบบเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ  จากบนลงล่าง มีวิธีการใช้สีแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย ทั้งสีเอกรงค์ และพหุรงค์ 
       2 จิตรกรรมไทยร่วมสมัย (Thai  Contemporary painting) เป็นงานจิตรกรรมที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมใหม่แนวความคิดใหม่ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน      เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะตะวันตกที่นำมาผสมผสาน กับรูปลักษณ์แบบไทย ๆ แล้วสร้างสรรค์เป็นรูปแบบใหม่ขึ้น
       สีที่ช่างนำมาใช้ในงานจิตรกรรมแต่เดิมนั้นมีน้อยมาก  มักใช้สีเดียว ที่เรียกว่า  "เอกรงค์" โดยใช้สีขาว สีดำและสีแดงเท่านั้น  ทำให้เกิดความกลมกลืนกันมาก ต่อมาสีที่ใช้ในภาพจิตรกรรมก็มีมากขึ้น มีการเขียนภาพ ที่เรียกว่า"เบญจรงค์" คือใช้สี  5  สี  ได้แก่ สีเหลือง  เขียวหรือคราม  แดงชาด  ขาว  และดำ การวาดภาพที่ใช้ หลาย ๆ สี เรียกว่า "พหุรงค์"  สีที่ใช้ล้วนได้มาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่  และมีที่กำเนิดต่าง ๆ กัน  บางสีเป็น ธาตุจากดิน  บางสีได้จากสัตว์ จากกระดูก  เขา งา  เลือด  บางสีได้จากพืช  ลักษณะของสีที่นำมาใช้มักจะทำเป็น ผงละเอียด ซึ่งเรียกว่า   สีฝุ่น ( Tempera) นำมาผสมกับวัสดุอื่นเพื่อให้ยึดเกาะผิวหน้าวัตถุได้ดี  ได้แก่ กาวหรือ ยางไม้  ที่นิยมใช้คือ ยางของต้นมะขวิด  และกาวกระถิน  ลักษณะเด่นของจิตรกรรมไทยอีกอย่างหนึ่งคือ การปิด ทองคำเปลวในบางส่วนของภาพที่มีความสำคัญ เช่น  เป็นเครื่องทรงหรือเป็นผิวกายของของบุคคลสำคัญในเรื่อง  เป็นส่วนประกอบของปราสาทราชวัง  หรือสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ๆ ในภาพ  เป็นต้น


 

muscles              adchar1