Custom Search

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประวัติอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

 

ประวัติอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

 

อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่เพียงแต่นำมาผลิต เป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่จากประวัติศาสตร์พบว่า
อ้อยมีบทบาทหลายอย่างในอตีดกาล เช่น ใช้ในพิธีกรรมต่างๆแสดงถึงความสมบูรณ์ และความหวานแสดงถึงปัญญา

โดยมักจะนำอ้อยและกล้วยเป็นของใช้ประกอบในพิธีคู่กัน เช่นใช้ในพิธีมงคล หรือเทศกาลต่างๆ ทั้งเพื่อประดับ หรือมีความหมาย
ในทางที่เป็นสิริมงคล เช่น ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นต้น และที่ไม่ค่อยทราบกันก็คือน้ำอ้อยผสมกับปูนขาวใช้สอปูนและฉาบผนัง
ในการประกอบ เป็นประติมากรรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตลอดจนยังปราก เป็นบทเพลง
ไทยต่างๆ มากมาย นอกจากนั้นอ้อยยังเป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณได้อีกด้วย

สำหรับการทำน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยทำเป็นน้ำตาลงบ แหล่งผลิตอยู่ที่
จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันยังมีการผลิตน้ำตาลงบอยู่ในบางจังหวัด ต่อมาใน ปี พ.ศ. 1951 และ
พ.ศ. 1955 ได้มีการส่งออกน้ำตาลทรายแดงไปยังประเทศญี่ปุ่น การผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ดำเนินกิจการด้วยดีโดยมี
แหล่งผลิตใหม่ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และ จังหวัดชลบุรี เมื่อปริมาณการผลิตมีมากกว่าความต้องการบริโภค
จึงมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ก่อนที่แหล่งผลิตจะย้ายมายังลุ่มน้ำท่าจีน และบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยมีการส่งออกอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 (พ.ศ. 2352-2375) และเริ่มเสื่อมถอยจนต้องมีการนำเข้าในปี
พ.ศ. 2436 จนกระทั่งได้มีการพัฒนาการผลิตน้ำตาลด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่ในยุโรป ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง การผลิตน้ำตาลในประเทศไทยจึงต้องหยุดกิจการไปบ้าง เหลือเพียงการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น
ต่อมาการบริโภคได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งต้องมีการนำเข้าจากประเทศ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รัฐบาลจึงเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับ
โครงการอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขึ้น

การปลูกอ้อยเริ่มใหม่อีกครั้งประมาณปี พ.ศ. 2475 มีโครงการขอตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรีโดยเอกชนสนใจที่จะลงทุน
ผลิตน้ำตาลด้วยวิธีการสมัยใหม่ ต่อมารัฐบาลได้ตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นมาเองในปี พ.ศ. 2480 ชื่อว่า "โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง"
ที่ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยผลิตน้ำตาลทรายขาว เพื่อที่จะลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

การผลิตน้ำตาลทรายขาวในประเทศไทยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2480 โรงงานที่ทันสมัยแห่งแรกสร้างขึ้นที่ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในสมัยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี มีชื่อว่า "โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง" เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2479 โดยบริษัท
สโกด้าเวอรค์ ประเทศเชคโกสโลวาเกีย เริ่มเปิดดำเนินการหีบอ้อยในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2480 มีกำลังการหีบอ้อยในระยะแรก
วันละ 500 ตัน ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการสร้าง "โรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์" ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 โดยซื้อโรงงานมาจากฟิลิปปินส์
เริ่มหีบอ้อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2485 มีกำลังการผลิต 500 ตันอ้อยต่อวันเช่นเดียวกัน โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่ง
ยังเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน โดยโรงงานน้ำตาลลำปางมีกำลังการผลิต 2,938 ตันอ้อยต่อวัน และ โรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์
มีกำลังการผลิต 1,738 ตันอ้อยต่อวัน

ปัจจุบันอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย มีชาวไร่อ้อยมากกว่า 100,000 ครอบครัว พื้นที่ปลูกกระจายใน
จังหวัดต่างๆ มากกว่า 40 จังหวัด ประมาณ 6 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยต่อปีประมาณ 45-70 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 5-7 ล้านตัน
เป็นน้ำตาลที่บริโภคภายในประเทศ 2 ล้านตันที่เหลือส่งออกขายในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี
โดยมีโรงงานน้ำตาล 46 โรงงาน กําลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 623,390 ตันต่อวัน ตั้งกระจายอยู่ใน 24 จังหวัด ดังนี้

1. ภาคเหนือ มี 9 โรงงาน ในเขตจังหวัดดังนี้ ลําปาง อุตรดิตถ์ กําแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์
2. ภาคกลาง มี 18 โรงงานในเขตจังหวัดดังนี้ สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์
3. ภาคตะวันออก (ภาคกลาง) มี 5 โรงงาน ในเขตจังหวัด ดังนี้ ชลบุรี สระแก้ว
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 14 โรงงาน ในเขตจังหวัดดังนี้ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร บุรีรัมย์ สุรินทร์

 

 

    

 

 

ความรู้เกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล

 

อ้อยเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมานาน และมีความเกี่ยวพันกับโบราณนิยายของอินเดีย โดยเชื่อกันว่าคำว่า Saccharum อาจมาจาก
ภาษาสันสกฤตคำว่า สาคารา (Sarkara) นอกจากนั้นยังพบหลักฐานโบราณที่ เมืองอะทาร์วาวีดา (Atharvaveda)
ซึ่งมีอายุกว่า 5,000 ปี ในอินเดีย บันทึกเกี่ยวกับอ้อยว่า เมื่อฉันสวมมงกุฎที่ทำด้วยยอดอ้อยแก่ท่าน แล้วท่านก็จะไม่เป็นศัตรูกับฉัน"

ประวัติการแพร่กระจายการปลูกอ้อยนั้นมีหลักฐานเป็นที่ยอมรับว่าเริ่มกระจายจากหมู่เกาะนิวกินี ตั้งแต่ 8,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช
ไปทาง นิวเฮบริเดส (New Hebrides) และนิวคาเลโดเนีย (New Caledonia) จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยัง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
อินโดจีน อินเดีย ส่วนการแพร่กระจายไปทางตะวันตกนั้นโคลัมบัสเป็นผู้นำไปแพร่กระจายในการเดินทางครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2036
โดยผ่านไปทางสเปน อ้อยมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และแพร่กระจายจากเอเชียไปยังหมู่เกาะเมลานีเซีย (Melanesia) ตะวันออกกลาง
และแอฟริกาเหนือ

โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติ (natural selection) กระบวนการผสมข้าม (hybridization) กระบวนการ
ผสมข้ามกับพืชอื่น (genetic introgression) และ การเพิ่มจำนวนชุดของโครโมโซม (polyploidization) อ้อยเป็นพืช
อยู่ในสกุล Saccharum

 

 

การปลูกอ้อยในประเทศไทย

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่อ้อยต้องการ

 


อ้อยเป็นพืชเขตร้อน ความยาวของช่วงวันที่เหมาะสมประมาณ 11.5-12.5 ชั่วโมงและอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมตลอดฤดูการ
ปลูกประมาณ 26-30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกในดินทรายจนถึงดินเหนียวจัด แต่ดินที่เหมาะสำหรับปลูกอ้อยคือดินร่วนทราย
หรือดินร่วนเหนียว มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 8.5 และมีความลึกของหน้าดินพอสมควรและระบายน้ำหรืออากาศได้ดี
จนถึงปานกลาง

ฤดูกาลปลูกอ้อย

ในประเทศไทยมีฤดูกาลปลูกอ้อยแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและลักษณะการตกของฝน และมีการเรียกชื่อแตกต่างกันดังนี้
1. อ้อยข้ามแล้งหรือปลายฝน ปลูกระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม โดยอาศัยความชื้นที่เก็บไว้ในดินตลอดช่วงฤดูฝน เพื่อให้อ้อยงอก
และเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ในช่วงที่ไม่มีฝนตกจนกระทั่งต้นปี ถัดไปจะมีฝนตกบ้าง ดินที่เหมาะสมคือดินร่วนปนทรายหรือดินทราย
2. อ้อยชลประทาน อ้อยน้ำราด หรืออ้อยน้ำเสริม ปลูกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ วิธีการปลูกอ้อยน้ำราดเป็นการปลูกอ้อย
โดยอาศัยความชื้นจากการให้น้ำเสริม เพื่อช่วยให้อ้อยสามารถงอกและเจริญเติบโตได้จนเข้าสู่ฤดูฝนปกติ สภาพดินที่เหมาะสม คือ
ดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียว มักอยู่ในเขตชลประทาน หรือมีแหล่งน้ำพอสมควร
3. อ้อยต้นฝนเร็ว ปลูกระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นการปลูกอ้อยโดยอาศัยความชื้นจากฝนช่วงแรกที่ตก เพื่อให้อ้อยงอกและ
เจริญเติบโตได้จนเข้าสู่ฤดูฝนปกติ ดินที่เหมาะสมคือดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียว โดยต้องมีการเตรียมดินและชักร่องรอฝน ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการงอกของอ้อยสังเกตได้จากร่องอ้อยจะมีน้ำขัง
4. อ้อยต้นฝน ปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยอาศัยน้ำฝนในการงอกและเจริญเติบโต ดินที่เหมาะสมคือดินเหนียวหรือ
ดินร่วนเหนียว

พันธุ์

อ้อยเป็นพืชที่สะสมน้ำหนักและความหวานได้สูงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คือระยะก่อนหรือหลังออกดอกเช่นเดียวกับพืชทั่วไป หลังจากนั้นความหวานและน้ำหนักจะลดลง ดังนั้นชาวไร่อ้อยจึงควรปลูกอ้อยซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวต่างกัน ซึ่งมี 3 ประเภทได้แก่
1. อ้อยพันธุ์เบา คืออ้อยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวระหว่าง 8-10 เดือน ผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพจึงสูงสุด เหมาะสำหรับปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวใน
ต้นฤดูหีบอ้อย เช่น อู่ทอง 3 เค 90-77 เป็นต้น
2. อ้อยพันธุ์กลาง คืออ้อยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวระหว่าง 11-12 เดือน ผลผลิต และคุณภาพจึงสูงสุด เหมาะสำหรับปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวระหว่าง
กลางฤดูหีบอ้อยเช่น เค 84-200 เป็นต้น
3. อ้อยพันธุ์หนัก คืออ้อยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวมากกว่า 12 เดือน ขึ้นไป เหมาะที่จะปลูกเพื่อ เก็บเกี่ยวช่วงท้ายฤดูการหีบอ้อย เช่น อู่ทอง 1,
เค 88-92 เป็นต้น

การเตรียมท่อนพันธุ์

ท่อนพันธุ์อ้อยที่ดีและสมบรูณ์จะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกของอ้อยสูง ซึ่งมีผลโดยตรงกับผลผลิตอ้อย ท่อนพันธุ์อ้อยที่นำมาปลูก จึงควร
มาจากแปลงที่มีการดูแลรักษาดี มีความสม่ำเสมอ ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลง มีอายุเหมาะสม 8-10 เดือน เป็นต้น
ปัจจุบันท่อนพันธุ์อ้อยมีราคาแพง ดังนั้นเกษตรกรจึงควรทำแปลงพันธุ์อ้อยไว้ใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อพันธุ์อ้อย อันเป็นการวางแผน
การปลูกอ้อยที่ถูกต้อง และลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคและแมลง การทำแปลงพันธุ์อ้อยมีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้

-ใช้ท่อนพันธุ์อ้อยจากแหล่งที่ปราศจากโรค เช่น โรคใบขาว เหี่ยวเน่าแดง แส้ดำ กอตะไคร้
- แปลงพันธุ์ที่ปลูกต้นฝน ให้ตัดอ้อยที่มีอายุ 8 - 10 เดือน ส่วนแปลงปลูกปลายฤดูฝนให้ตัดอ้อยพันธุ์ที่มีอายุ 10 - 11 เดือน
- นำท่อนพันธุ์ไปชุบน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง หรือ 52 องศาเซลเซียส ครึ่งชั่วโมง เพื่อป้องกันโรคใบด่าง โรคตอแคระแกร็น
โรคกลิ่นสัปปะรด ลดการเป็นโรคใบขาว และโรคกอตะไคร้
- สำรวจแปลงพันธุ์อ้อยอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีพันธุ์ปน หรือมีต้นที่เป็นโรคให้ทำการขุดอ้อยทั้งกอเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที ถ้าพบการ
ทำลายของหนอนกอลายจุดใหญ่ ให้ตัดเฉพาะลำอ้อยที่ถูกทำลายแล้วทำลายหนอน

การเตรียมดิน

มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมแปลงปลูกที่ดีให้กับอ้อย เพราะการปลูกอ้อย 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 ปี หรือมากกว่า เนื่องจาก
อ้อยจะแตกกอ หลังจากตัดเก็บเกี่ยว ดังนั้นการเตรียมดินปลูกจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และความสามารถในการไว้ตอของอ้อย
การเตรียมดินที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้

-ถ้ามีชั้นดินดานหรือมีการอัดตัวแน่นหรือปลูกอ้อยมานาน ควรมีการระเบิดดินดาน โดยไถระเบิดดินดานให้ลึกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บน้ำของดินและรากสามารถเจริญหยั่งลึกนำน้ำมาใช้ได้
- ไถบุกเบิกและพรวนด้วยผาน 3 และ 7 เมื่อดินมีความชื้นเหมาะสม สังเกตได้โดยถ้าเป็นดินทรายให้ใช้มือกำดินให้แน่นแล้วคลายมือออก ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนแสดงว่ามีความชื้นเหมาะสม ถ้าเป็นดินเหนียวไม่ควรไถเมื่อดินชื้นหรือแข็งจนเกินไป ควรไถดินให้ลึก 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้รากหยั่งลึกและสามารถหาน้ำได้ดี
-ในกรณีปลูกอ้อยปลายฝน (ดินทราย) ควรไถเปิดหน้าดินด้วยผาล 3 หรือ 7 เพื่อรับ น้ำฝนในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จากนั้นทำการ
พรวน และชักร่องปลูกทันทีในเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
-ในกรณีปลูกอ้อยชลประทาน (ดินเหนียว) ควรเตรียมดินให้ละเอียดและเสร็จภายในครั้งเดียว (ไถดะ ไถแปร ไถพรวน ชักร่อง)
เพื่อลดการสูญเสียความชื้น
- ในกรณีปลูกอ้อยต้นฝน ควรเตรียมดินและชักร่องอ้อยให้เสร็จก่อนเดือนมีนาคม และปลูกอ้อยทันทีเมื่อมีฝนแรกตก

ะยะปลูกและวิธีปลูก

- ทำการยกร่อง ใช้ระยะระหว่างร่อง 0.8-1.5 เมตร โดยระยะร่องที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับวิธีการปฏิบัติหรือการดูแลรักษาของ
เกษตรกร หากใช้แรงงานคนหรือแรงงานสัตว์ในการดูแลรักษา ควรมีระยะ 0.8 - 1.0 เมตร และระยะ 1.3 - 1.5 เมตร สำหรับการใช้
เครื่องจักรกล ขนาดกลางถึงใหญ่
-ในการปลูกอ้อยต้นฝน เมื่อวางท่อนพันธุ์แล้วควรทำการกลบดินให้สม่ำเสมอหนา 3-5 เซนติเมตร ส่วนอ้อยปลายฝน ควรกลบดิน
ให้แน่นและหนา 10-15 เซนติเมตร
- การปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องปลูก เครื่องจะเปิดร่องใส่ปุ๋ย วางท่อนพันธุ์ และกลบ

การดูแลรักษาอื่นๆ

-การให้ปุ๋ย สูตรปุ๋ยและอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมขึ้นกับผลการวิเคราะห์ดิน โดยการใส่ปุ๋ยครั้งแรกควรใส่พร้อมกับการปลูกอ้อย หรือหลัง
ตัดแต่งตออ้อยไม่เกิน 15 วัน ส่วนการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ควรใส่ห่างจากการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ประมาณ 3-4 เดือน ในการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง
ควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีความชื้น โดยโรยข้างแถวอ้อยห่างประมาณ 30-50 เซนติเมตร และต้อง ฝังกลบปุ๋ย ยกเว้นการใส่ปุ๋ยรองพื้น

-การให้น้ำ สำหรับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ควรให้น้ำตามร่องก่อนทำการปลูกอ้อย โดยให้น้ำประมาณเศษสามส่วนสี่ของร่อง และไม่ต้อง
ระบายน้ำออก มีการให้น้ำเสริมอย่างน้อย 3 ครั้ง คือในช่วงปลูก อ้อยแตกกอ และย่างปล้อง เพื่อทำให้อ้อยมีการเจริญเติบโตอย่าง
ต่อเนื่อง การกำจัดวัชพืช กำจัดวัชพืชด้วยแรงงาน หรือเครื่องจักรกล 1-2 ครั้ง ในช่วงอ้อยอายุ 1-2 เดือน หรือก่อนวัชพืชออกดอก ในกรณีที่การกำจัดวัชพืชไม่มีประสิทธิภาพ ควรพ่นสารกำจัดวัชพืช เช่น อะทราซีน เมทริบูซีน ไดยูรอน พ่นคลุมดินหลังปลูกอ้อย
(ก่อนอ้อยและวัชพืชงอก) พ่นในขณะที่ดินมีความชื้นสูง ส่วนอามีทรีน พ่นหลังปลูกอ้อย ก่อนอ้อยและวัชพืชงอกหรืองอกหลังปลูก
เมื่อวัชพืชมี 4-5 ใบ เฮกซาซิโนน หรือ ฮิมาซาพิค พ่นคลุมดินหลังปลูกอ้อย ก่อนอ้อยงอกและสามารถฉีดพ่นได้ถึงแม้ว่าดินมีความชื้นต่ำ

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวอ้อยให้มีคุณภาพต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของอ้อย พันธุ์อ้อย แรงงานตัดอ้อย ลำดับการตัดที่ได้รับจากทาง
โรงงาน การตัดอ้อยให้ได้คุณภาพสูงมีข้อพิจารณาดังนี้

- เก็บเกี่ยวอ้อยที่อายุ 10-14 เดือนหลังปลูก โดยสังเกตจากยอดอ้อยจะมีข้อถี่กว่าปกติ ใบสีเขียวซีด มีค่าบริกซ์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 22 องศาบริกซ์ โดยอ้อยทุกพันธุ์ควรที่จะตัดอ้อยที่ปลูกปลายฝนก่อน ตามด้วยอ้อยตอ และอ้อยต้นฝน ยกเว้นพันธุ์ เค 88-92 ที่ช่วงเวลาการตัดที่เหมาะสมคือ
เดือน กุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม
- มีการวางแผนการตัดอ้อยและจำนวนของคนตัดอ้อย ให้สัมพันธ์กับลำดับการตัดอ้อยที่ได้รับจากทางโรงงาน จะทำให้ไม่สูญเสียน้ำหนัก
และความหวานของอ้อย เนื่องจากการตัดอ้อยค้างไร่ไว้เป็นเวลานาน
- ควรตัดอ้อยสด ไม่ควรเผาอ้อยก่อนตัด เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ จะมีการสูญเสียน้ำหนัก และรายได้ มากกว่าอ้อยตัดสด นอกจากนั้น
อ้อยไฟไหม้จะถูกหักราคาตันละ 20 บาท อ้อยไฟไหม้ยอดยาวตัดราคาตันละ 40 บาท เนื่องจากอ้อยไฟไหม้จะทำให้การทำน้ำตาลยากขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้การหีบอ้อยได้ช้าลง
- ควรมีการควบคุมให้ตัดอ้อยชิดดิน ซึ่งจะทำให้ลดการสูญเสียของน้ำหนักอ้อยที่เหลือค้างไร่ได้ 0.3 - 2 ตัน/ไร่ และทำให้สูญเสีย
รายได้ 186 - 1,240 บาท/ไร่
- ควรตัดอ้อยให้สะอาดและไม่ควรนำสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ยอดอ้อย กาบ และใบอ้อย เข้าโรงงานเพราะจะทำให้ค่าซีซีเอส และรายได
้ลดลง นอกจากนั้นอ้อยยอดยาวจะถูกตัดราคาตันละ 20 บาท

การดูแลรักษาอ้อยตอ

ควรมีการไว้ใบอ้อยคลุมดิน เพื่อเก็บรักษาความชื้นไว้ในดิน ทำให้อ้อยตองอกดี ช่วยป้องกันการงอกของวัชพืช ในกรณีที่อ้อยตองอก
ไม่สม่ำเสมอ โดยระยะห่างระหว่างกออ้อยมากกว่า 0.5 เมตร หรือไม่งอกเป็นบริเวณพื้นที่กว้าง ควรทำการปลูกซ่อมเมื่อดินมีความชื้น
โดยใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่มีตาสมบูรณ์ หรือในกรณีที่ขาดแคลนพันธุ์อ้อยอาจใช้วิธีการปลูกอ้อยถุง แล้วนำไปปลูกซ่อม

 

 

 

 

 

ผลิตผลพลอยได้จากอ้อยและน้ำตาล

 

โดยเฉลี่ยในการหีบอ้อย 1 ตันจะได้ส่วนประกอบหลักต่างๆดังนี้

1. น้ำตาล 105-110 กิโลกรัม
2. น้ำ 500-510 กิโลกรัม
3. กากอ้อย (ความชื้นร้อยละ 50-52) 270-290 กิโลกรัม
4. กากตะกอนหม้อกรอง (ความชื้นร้อยละ 70-72) 28-40 กิโลกรัม
5. กากน้ำตาล 50-60 กิโลกรัม

น้ำตาลที่ได้จากกระบวนการผลิตถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ส่วนที่เหลือนั้นสามารถนำไปใช้ภายใน
โรงงานน้ำตาล หรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก เรียกว่า ผลิตผลพลอยได้ (by-products) ตัวอย่างของการ
นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆได้แก่

ก. น้ำจากอ้อย มีประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักอ้อย ส่วนใหญ่นำไปใช้ในขั้นตอนต่างๆของ กระบวนการผลิตน้ำตาล

ข. กากอ้อย (bagasse) ประกอบด้วยเส้นใย (fibre) ประมาณ ร้อยละ 45 โดยทั่วไปจะใช้เป็น เชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำที่นำไปใช้
ผลิตไฟฟ้าและกระบวนการผลิตน้ำตาล ปัจจุบันมีการนำ ไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ เยื่อกระดาษ ปาร์ติเกิลบอร์ด
(particle board)

ค. กากตะกอนหม้อกรอง (filter mud) ประกอบด้วยน้ำ ไขมัน (wax) สารประกอบโปรตีน ส่วน ใหญ่จะนำไปใช้เป็นปุ๋ยใส่ในไร่อ้อย
หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือนำไปตากแห้งและนำไป เป็นอาหารสัตว์ได้

ง. กากน้ำตาล (molasses) เป็นผลิตผลพลอยได้ที่สำคัญและมีการซื้อขายกันในระหว่าง ประเทศปีละ 35-42 ล้านตัน โดยมีราคา
ประมาณเมตริกตันละ 1,000-2,500 บาท ทั้งนี้อาจ เนื่องมาจาก กากน้ำตาลสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ได้อีกมากมาย เช่น เอทธิลอัลกอฮอล์ (ethyl alcohol หรือ ethanol) ผงชูรส (monosodium glutamate) ยีสต์ที่ เป็นอาหาร
สัตว์ และอาหารมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์บางชนิดยังสามารถนำไปผลิตเป็น อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เอทธิล
อัลกอฮอลนำไปผลิตเป็น เอทธีลีน (ethylene) อาเซตา อัลดีไฮด์ (acetaldehyde) กรดอาเซติก (acetic acid) อาซีโตน
(acetone) เป็นต้น

แม้ว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสามารถ ทำให้เกิดผลิตผลพลอยได้อีกมากก็ตาม ในการตัดสินใจที่จะลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ดังกล่าวยังต้องศึกษาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น ปริมาณของวัตถุดิบ เทคโนโลยีในการผลิต ปริมาณความต้องการ เป็นต้น

 

 

  

 

บทความด้านโภชนาการ

 

Q : น้ำตาลแร่ธรรมชาติแตกต่างจากน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เพราะไม่มีการฟอกสีใช่หรือไม่

A : ก่อนที่จะตอบคำถามนี้คงต้องเริ่มด้วยการอธิบายเรื่องกระบวนการ ฟอกสีของโรงงานน้ำตาลก่อนว่า ไม่ได้มีการใส่สารฟอกสีหรือใช้
สารเคมีใดๆ ที่เป็นอันตรายเลย แต่เป็นการใช้กระบวนการที่เรียกว่า Carbonation นั่นคือ ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการจับสิ่ง สกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำเชื่อมดิบและกรองตะกอนของสิ่งเจือปนออก จากนั้นนำน้ำเชื่อมที่ผ่านการกรองแล้ว มาผ่านการแยกสีด้วยเรซิน
อีกครั้งหนึ่ง หลักการทำงานก็คือ ให้เรซินจับอนุภาคของสีไว้ แล้วปล่อย ให้น้ำเชื่อมที่ใส สะอาด ผ่านออกมาด้วยเทคนิคเดียว กับที่ใช้
ในเครื่อง กรองน้ำที่คุณๆ มีใช้กันในบ้านนั่นแหละ เหตุผลที่โรงงานน้ำตาลต้อง ผลิตน้ำตาลทรายที่มีผลึกขาวนั้น ก็เพราะน้ำตาลที่ยิ่งขาว
ความบริสุทธิ์ ของซูโครสก็ยิ่งสูง ทั้งนี้เพราะเราใช้น้ำตาลเป็นเครื่องปรุงรสหวานให้ กับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เราจึงต้องการ
ความหวานบริสุทธิ์อย่าง แท้จริงของน้ำตาลซูโครส ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า น้ำตาลที่เราเห็นผลึก ขาวๆ เหล่านั้น จึงปลอดภัยต่อการบริโภ
คแน่นอน ส่วนคำตอบของ คำถามนี้จึงตอบได้ไม่ยากว่า ทั้งน้ำตาลแร่ธรรมชาติและน้ำตาลทรายขาว บริสุทธิ์ไม่มีการฟอกสีเพื่อให้ขาว
ส่วนที่แตกต่างกันคือ น้ำตาลแร่ ธรรมชาตินอกจากจะมีน้ำตาลซูโครสเป็นองค์ประกอบหลักแล้ว ยังมีน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลฟรุคโตสด้วย ส่วนน้ำตาลทรายบริสุทธิ์นั้นมีเพียงน้ำตาลซูโครสเป็นองค์ประกอบหลัก

Q : น้ำตาลแร่ธรรมชาติคืออะไร
A : น้ำตาลแร่ธรรมชาติเป็นน้ำตาลที่คิดค้นขึ้นโดยกลุ่มน้ำตาลมิตรผล จากแนวคิดที่รวมสองคุณค่าไว้ในหนึ่งเดียว โดยนำข้อดีของ
น้ำตาลทรายขาวที่สะอาดและเก็บได้นาน รวมกับข้อดีของน้ำตาลทรายแดง คือมีแร่ธาตุตามธรรมชาติ จึงเป็นเกล็ดสีทองที่สะอาด
มีคุณค่าแร่ธาตุ ของอ้อยธรรมชาติทั้งยังมีกลิ่นหอมชวนใช้ด้วย

Q : สามารถใช้น้ำตาลแร่ธรรมชาติ ปรุงอาหารประเภทใดได้บ้าง
A : ใช้ได้กับอาหารคาว อาหารหวานทุกประเภทเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ กับเมนูเด็ดของคุณ ตลอดจนใช้ในการชงเครื่องดื่มนานาชนิด

Q : ในอ้อยธรรมชาติ มีแร่ธาตุอะไรบ้าง
A : แคลเซียม เหล็ก โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม

Q : น้ำตาลแร่ธรรมชาติคือน้ำตาลสีรำใช่หรือไม่
A : น้ำตาลแร่ธรรมชาติไม่ใช่ น้ำตาลสีรำเพราะน้ำตาลแร่ธรรมชาติผลิตด้วยกระบวนการผลิตของน้ำตาลทรายขาวเกรดสูง เพื่อให้ได
้น้ำตาลที่สะอาด แต่น้ำตาลสีรำ จัดเป็นน้ำตาลทรายขาวเกรดต่ำสุด สามารถพิสูจน์ได้ ง่าย ๆ โดยการทำน้ำเชื่อมด้วยน้ำตาลทั้งสองชนิด
จะพบว่า น้ำเชื่อมที่ได้จากน้ำตาลแร่ธรรมชาติจะสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรก เจือปน จนต้องกรองทิ้งเหมือนกับน้ำเชื่อมที่ทำด้วยน้ำตาลทราย
สีรำ ที่ยังมีสิ่งสกปรกหลงเหลืออยู่

 

 

คำนำ


การวิจัยเรื่อง ประวัติการผลิตน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทยนี้ ผู้วิจัยได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เพื่อจัดพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ระลึกครบรอบ 43 ปี บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของอ้อย ประวัติความเป็นมาของอ้อย และการผลิตน้ำตาลในประเทศต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของการผลิตน้ำตาลในประเทศไทยได้แบ่งเป็น 2 ภาค คือ การปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลก่อน พ.ศ. 2480 การผลิตในสมัยนั้นเริ่มเป็นการผลิตเพื่อส่งออก การผลิตเป็นแบบพื้นบ้าน โดยนำวิธีการผลิตแบบจีนและเริ่มนำเครื่องจักร จากตะวันตก มาใช้ ประเทศไทยได้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา แม้จะประสบปัญหาอุปสรรคในตอนต้น แต่ต่อมาอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยก็ได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันน้ำตาลจากอ้อยเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย และมีปริมาณการผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลก นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์อันยาวนานและน่าสนใจอย่างยิ่ง


อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยปัจจุบัน ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสมาคมโรงงานน้ำตาล กลุ่มสถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบริษัทผู้ส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล กลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งองค์การค้าน้ำตาล ระหว่างประเทศ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้พยายามจัดทำงานชิ้นนี้ให้ครอบคลุมในทุกด้านเท่าที่จะสามารถค้นคว้ารวบรวมได้ โดยใช้หลักฐานอ้างอิงจากเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง วิทยานิพนธ์ วารสาร หนังสือภาษาอังกฤษที่ว่าด้วยประวัติน้ำตาลโลก ผู้วิจัยยังได้รับข้อมูล ความช่วยเหลือ คำปรึกษาแนะนำ การสาธิต การสังเกตการณ์ในท้องที่ ตลอดจนข้อคิดและคำวิจารณ์ จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ซึ่งผู้วิจัยใคร่ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้

 

 

 

อ้อยในจินตนาการของกวี

กุสุมา รักษมณี

กามเทพตามคติอินเดีย เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ถือคันธนูที่ทำด้วยลำอ้อย สายธนูคือผึ้งที่เกาะต่อๆกัน มีลูกศรทำด้วยดอกไม้ เมื่อแผลงศร
ไปต้องผู้ใด จะทำให้เกิดความรักขึ้นในใจผู้นั้น อาวุธของกามเทพประมวลขึ้นมาจากธรรมชาติที่เป็นแหล่งความหวาน คือ อ้อย ผึ้ง และ
ดอกไม้ เพราะกวีต้องการจะสื่อให้รู้ถึงความหอมหวานของความรัก

ลำอ้อยจะโค้งงอได้มากพอที่จะทำเป็นคันธนูหรือไม่ กวีไม่ได้คำนึงถึง และผู้อ่านก็ไม่ได้ติดใจ หากแต่เพ่งเล็งที่เป็นแหล่งความหวาน
ของลำอ้อยนั้นมากกว่า บทพรรณนามงกุฎที่ทำจาก ลำอ้อยในคัมภีร์อถรรพเวทของอินเดียก็คงสื่อความหมาย ถึงความหวาน ในลักษณะ
เดียวกัน

ว่าเฉพาะรูปลักษณ์ ต้นอ้อยก็เป็นที่ต้องตากวี ลำต้นกลมกลึง ตั้งตรง มีใบเรียวยาวชี้ช้อนขึ้นไปแล้วค้อมลง และมีดอกเป็นรวงขาวประดับอยู่
ตรงกลาง ไร่อ้อยในจินตนาการของกวีจึงดูราวกับเป็นทิวแถวของพนักงานที่ถือแส้จามรีเรียงรายกันอยู่

ในบทกวีนิพนธ์เรื่อง มูษิกวงศ์ ของกวีสันสกฤตชื่อ อตุล ผู้มีชีวิตอยู่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีบทพรรณนาฉากหมู่บ้านที่พระราชา
ทรงกรีธาทัพผ่าน

ใบตองที่ต้องลม โบก มือไหวๆ
ราวกับจะร้องทูลให้พระองค์ทรงช่วย
เพราะต้องแบกภาระอันหนักอึ้ง (ของเครือกล้วย...)
ต้นอ้อยที่ดอกใบไหวพะเยิบพะยาบ
เป็นทิวแถวราวกับแส้จามรีที่เรียงราย
ชวนให้ไพร่พลพากันหยุดมองดู (Warder, VI ,p.35-36)


อีกฉากหนึ่งเป็นบทพรรณนาบริเวณอาศรมที่ร่มรื่นไปด้วยกล้วย อ้อย หมาก มะพร้าวและไม้ดอกต่างๆ กวีสมมุติให้ต้นอ้อยที่กำลังออกดอก
เป็นรวงงามกระจ่างราวแสงจันทร์ กล่าวเยาะเย้ยต้นกล้วยว่า

ผลของเจ้าอาจจะหวานเมื่อสุก แต่ก็สุกไม่เท่ากัน
ส่วนเราสิ ! อุ้มรสหวานไว้เต็มลำ และตลอดลำเลยทีเดียว (Warder, VI ,p.48)


มิเพียงแต่จะหวานเต็มลำและตลอดลำ แต่อ้อยยังเก็บความหวานไว้ได้นานแม้จนหยาดหยดสุดท้าย กวีจึงมักยกคุณลักษณะนี้มาเปรียบ
อยู่บ่อยๆ โคลงโลกนิติของไทยบทหนึ่งมีเนื้อความตรงกับสุภาษิตในคัมภีร์ธรรมนิติและโลกนิติที่เป็นภาษาบาลี กล่าวถึงคุณลักษณะ
ที่คงทน ของไม้จันทน์ แม้แห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น ช้างแม้เข้าสู่สนามรบ ก็ไม่ทิ้งท่าทีสง่างาม อ้อยแม้อยู่ในเครื่องหีบก็ไม่ทิ้งรสหวาน และบัณฑิต
แม้มีทุกข์ ก็ไม่ทิ้งธรรมะ (โลกนิติ,หน้า 92) สุภาษิตสันสกฤตบทหนึ่งเปรียบอ้อยกับสาธุชนว่าดังนี้

ถึงแม้จะโกรธ สาธุชนย่อมไม่เอ่ยคำหยาบ
ดุจเดียวกับลำอ้อย แม้จะถูกหักทำลาย ก็ยังให้แต่รสหวานเท่านั้น (Sternbach,p.1059)

ในหนังสือรวมนิทานสิงหล ชื่อ สีหลวัตถุปกรณัม มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระราชาองค์หนึ่งปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านท่องเที่ยวไปตาม
ชนบท เมื่อเสด็จไปยังบ้านหลังหนึ่ง หญิงเจ้าของบ้านตั้งใจจะหีบน้ำอ้อยถวาย แต่เมื่อตัดอ้อยมาจากไร่แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่มีน้ำอ้อยออกมา
พระราชาตรัสถามว่าปกติได้น้ำอ้อยมาอย่างไร นางตอบว่าได้จากการหีบอ้อยเพียงท่อนเดียว แต่ครั้งนี้เห็นจะเป็นไปตามคำโบราณที่ว่า
บ้านเมืองเกิดอาเพศ เพราะเจ้าแผ่นดินไม่ทรงธรรม ฝนฟ้าที่เคยตกต้องตามฤดูกาลก็ขาดหายไป พืชพรรณไม้จึงไม่ให้ผลดังเคย พระราชา
ทรงรำพึงว่าเห็นจะเป็นที่พระองค์ทรงโลภ สะสมทรัพย์ไว้มาก ทั้งยังเรียกเก็บภาษีจากพืชผลมากเกินควรอีกด้วย เมื่อกลับสู่ที่ประทับ
พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลิกปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อไพร่ฟ้า ไม่ช้าบ้านเมืองก็เป็นปกติสุข (Warder, VI ,p. 513 - 514)
(นิทานเรื่องนี้มีเค้าเรื่องเหมือนนิทานเรื่องที่ 2 ในนิทานอิหร่านราชธรรมของไทยเรื่องพระเจ้าหุมายุนคิดเก็บภาษีผลทับทิม โปรดดู
นิทานวานบอก” ,หน้า 159 – 163)

น้ำอ้อยมีรสหวาน กวีจึงใช้ศัพท์เรียกน้ำอ้อยว่า น้ำหวานดังปรากฏในมหาชาติคำหลวง เมื่ออัจจุตฤษีพรรณนาป่าว่า

มีอ้อยเอมโอชอันอ่อนอัน มีมฤธุสรลิล กลืนกินบ่พักย้ำก็ยวน (กัณฑ์มหาพน)


มฤธุ (หรือ มธุร) แปลว่า หวาน สรลิล (หรือ สลิล) แปลว่าน้ำ มฤธุสรลิล จึงแปลว่า น้ำหวาน ซึ่งในที่นี้หมายถึง น้ำอ้อย

เมื่อจะหมายถึง น้ำอ้อยที่เป็นน้ำตาล กวีใช้คำว่า สกฺกร ซึ่งเดิมแปลว่าทราย แต่ต่อมาใช้เรียกน้ำตาลจากอ้อยที่มีลักษณะเป็นทราย
(ไทยเรียกน้ำตาลทราย) คำว่า สกฺกร มาจากศัพท์สันสกฤตว่า ศารฺกร (ภาษาต่างๆที่อยู่ในตระกูลเดียวกับสันสกฤตคือตระกูลอินโดยุโรป
Sakharon, อิตาเลียน – Zucchero, ฝรั่งเศส – Surce, อังกฤษ – Sugar ; และศัพท์ละตินที่เป็นชื่อพฤกษ์ศาสตร์ของอ้อย
ศัพท์ต้น ใช้ว่า Saccharum)

สำหรับน้ำตาลที่ไม่มีลักษณะเป็นทราย แต่เป็นก้อนเล็กๆดังที่เรียกว่า น้ำตาลกรวด ศัพท์สันสกฤตใ ช้ ขณฺฑศารฺกร หรือ ขณฺฑสกฺกร
ในภาษาบาลี ขณฺฑ แปลว่า ก้อน ชิ้น ส่วน ศารฺกร คือ น้ำตาล โคลงโลกนิติสำนวนเก่าของไทยบทหนึ่งกล่าวถึงความขมของสะเดาว่า
แม้จะเอา น้ำผึ้งทศกรมาปนอย่างไร ก็ไม่หายขม คาถาบาลีที่กำกับโครงบทนั้นมีศัพท์มธุรสกฺกร” (ประชุมโคลงโลกนิติ,หน้า 26) มธุร
ในที่นี้แปลว่า น้ำผึ้ง ส่วน สกฺกร นั้น ท่านแปลว่า ทศกร ซึ่งน่าจะเป็นคำที่กร่อนมาจาก ขัณฑสกกร ที่กล่าวถึงแล้วในภาษาบาลี
ใช้น้ำตาลทราย แต่ในโคลงไทยใช้น้ำตาลกรวด ก็คงให้ความหวานได้เท่ากัน ไม่ผิดความหมายแต่อย่างใด

คำว่า ขัณฑสกร (ศัพท์ไทยตัด ก ออกไปตัวหนึ่ง) ในภาษาไทย แปลว่า น้ำตาลกรวดตามภาษาเดิม แต่มีความหมายเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งน่า
จะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของขัณฑสกรว่าน้ำตาลชนิดหนึ่งเกิดที่ใบบัวโดยอ้างข้อความจากร่ายยาว
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์จุลพน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่ามีนามปรากฏเรียกว่าขัณฑสกรข้อความนี้
อยู่ในบทที่พรานเจตบุตรพรรณนาป่าในบริเวณเขาวงกตที่พระเวสสันดรประทับอยู่


....หมู่ไม้ต้นซึ่งทรงดอกมีพรรณผกาเกสร และกลิ่นขจรมีประการต่างๆหลายร้อยอย่างพ้นที่จะพรรณนา มีพวงผกาเผล็ดดอกผลัดเปลี่ยน
เป็นวาระติดต่อกันไปชั่วฤดูเดือนปี....เมื่อเวลาพุ่มไม้มีดอกออกตระการบานเต็มที่พร้อมฤดู เสาวคนธรสเรณูโรยร่วงลงบนใบอุบล ซึ่งลอย
ลาดดาดาษอยู่บนหลังน้ำ เมื่อล่วงเวลา กาลก็ก่อเกิดโอชะวิเศษหวานเป็นมธุรส มีนามกำหนดเรียกว่า โบกขรมธุ ผู้เรียนรู้ลุในตำรา
แพทย์ศาสตร ์ ย่อมสืบเสาะแสวงหามาประกอบใช้ในการโอสถ มีนามปรากฏ เรียกว่า ขัณฑสกร... (มหาเวสสันดร,หน้า 166 – 167)

พิจารณาจากข้อความนี้จะเห็นว่า น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่หยาดหยดลงบนใบบัวนั้นยังไม่เรียกว่า ขัณฑสกร แต่เรียกว่าโบกขรมธุ
(โบกขร แปลว่า ใบบัว , มธุ แปลว่า น้ำหวาน ชื่อนี้จึงน่าจะแปลว่าน้ำหวานใบบัว”) ต่อมาเมื่อเก็บไปทำยาจึงเรียกว่า ขัณฑสกร เป็นเครื่อง
ยาไทยที่มีลักษณะคล้ายน้ำตาลกรวด สำหรับชาวบ้านเมื่อถามถึงขัณฑสกร นอกจากจะนึกถึงเครื่องยาไทยแล้ว ยังนึกถึงน้ำตาลเทียมที่เพิ่ม
ความหวานให้เข้มข้นถึง 500 เท่าของน้ำตาลธรรมดา แม่ค้าขนมหวานแต่ก่อนรู้จักดี เพราะใช้ทดแทนน้ำตาลในการทำเชื่อม เป็นต้น
แต่ปัจจุบันเลิกใช้เพราะรู้ว่ามีเพียงรสหวานลิ้นที่เป็นคุณ แต่มีโทษคืออันตรายต่อสุขภาพ

ในจินตนาการของกวี อ้อยปรากฏทั้งรูปลักษณ์ของลำต้น ใบ ดอก ทั้งคุณลักษณ์ที่คงความหวานไว้ได้นาน และทั้งผลผลิตจากน้ำตาลที่เป็น
น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด จินตนาการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความคุ้นเคยของกวีที่มีต่อสิ่งที่ผ่านเข้ามาในสายตาและในชีวิตประจำวัน
และแสดงให้เห็นฝีมือของกวีที่สามารถหยิบยกสิ่งใกล้ตัวมาเรียงร้อยไว้ในเรื่องให้ผู้อ่านได้ชื่นชม และได้สืบสาวร่องรอยของบางสิ่ง
บางอย่างในวิถีชีวิตคนรุ่นก่อนได้อีกด้วย

หนังสืออ้างอิง

กุสุมา รักษมณี , นิทานวานบอก, กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, 2536.
ประชุมโคลงโลกนิติ, กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2511.
มหาชาติคำหลวง, กรุงเทพฯ:คลังวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 6, 2516.
มหาเวสสันดรชาดก, กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 12, 2531.
โลกนิติ สุตวัฑฒนนีติ, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน,2539.
Sternbach, Ludwik . Mahasubhasita – Samgraha,Hoshiapur : Vishveshvaranand Vedic Research
Institure,1977.
Warder, A.K. Indian Kavya Literature, Vol.V.I.Delhi: Motilal Banarsidass, 1992

 

 

หน้าหลัก > มิตรผลแหล่งรวมความรู้ > สหวิทยาการอ้อย

 

อ้อยที่ใช้ในพิธีกรรม

พระครูวามเทพมุนี


ในหนังสือพฤกษนิยายของ ส.พลายน้อย มีการกล่าวถึงอ้อยตามคัมภีร์พระเวทไว้ว่า ตำนานในคัมภีร์ปุราณกล่าวถึงฤาษีวิศวามิตรเป็น
ผู้สร้างอ้อยขึ้น เพื่อให้เป็นอาหารทิพย์ในแดนสวรรค์ชั่วคราวให้กับท้าวตรีศังกุ ในคัมภีร์กล่าวว่า ท้าวตรีศังกุเป็นกษัตริย์ที่มีความปรารถนา
อันแรงกล้า อยากขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แต่ถูกเทวดากีดกันรังเกียจ ไม่ยอมให้ขึ้นสวรรค์ จึงอ้อนวอนพระวิศวามิตรฤาษี พระวิศวามิตรฤาษี
เอ็นดูแก่ท้าวตรีศังกุ โดยที่มีอุปการะแก่กันมา จึงได้สร้างสวรรค์ชั่วคราวขึ้นให้ในเมืองมนุษย์ ต่อมาทวยเทพเกรงอิทธิฤทธิ์ตบะเดชของ
พระวิศวามิตรฤาษี จึงตกลงให้ท้าวตรีศังกุขึ้นสวรรค์ได้ทั้งเป็น ส่วนสวรรค์แดนมนุษย์ที่สร้างไว้เป็นอันล้มเลิก เครื่องประดับอาภรณ์ก็
กระจัดกระจายหายสูญไปสิ้น ในบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เครื่องประดับแดนสวรรค์บนเมืองมนุษย์ที่ยังคงตกค้างอยู่นั้น ปรากฏว่ามีอ้อย
เครื่องทิพย์เหลืออยู่ด้วยการสืบเนื่องแต่นั้นมาจึงได้มีพันธุ์แพร่หลายทั่วไปในแดนมนุษย์เป็นอนุสรณ์

ในคัมภีร์อาถรรพเวท ได้กล่าวถึงอ้อยตอนหนึ่งว่า

ปริตฺวา ปริตฺนุ เนกษุ ณาคามวิศวิเษ ยถามํกามินฺยโส ยกามนฺนาปคา อสะ
แปลว่า ข้าฯ เอาต้นอ้อยผูกรอบท่าน เพื่อกันความเกลียดซึ่งกันและกัน
เพื่อท่านจะได้รักข้าฯ และเพื่อท่านจะได้ไม่ปราศจากข้าฯ

อ้อยที่ใช้ในพิธีกรรมส่วนใหญ่แสดงความอุดมสมบูรณ์ ความหวานแสดงถึงปัญญา พิธีกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดขอบเขต
แสดงที่จัดพิธีโดยย่อจำลองสวรรค์ โดยผูกราชวัติฉัตรธง แล้วนำอ้อยและกล้วยมาผูกติดเข้ากับฉัตรด้วย แสดงขอบเขตของพิธีกรรมหรือ
เป็นเขตที่จะแสดงสวรรค์จำลอง คือที่อยู่ของเทพยดา จากตำนานแสดงว่าอ้อยจะเป็นของวิเศษ สร้างเพื่อตบะเดชะเป็นการชั่วคราว ฉะนั้น
บนสวรรค์นั้นจะไม่มีต้นอ้อยอยู่ จะมีอยู่แต่ในโลกมนุษย์เท่านั้น เมื่อจะทำพิธีหรืองานมงคลใดก็จะนำอ้อยกล้วยไว้ในพิธี จะติดที่ประตูบ้าน
งาน หรือจะถือนำขบวนแห่ไปแสดงความเป็นสิริมงคล อ้อยยังเป็นศรีและคันศรของพระกามเทพ เทพแห่งความรัก

ในพิธีกรรมเราใช้น้ำอ้อยและทำเป็นน้ำตาลงบ เพื่องานบูชาเทพเจ้า จะถวายสดหรือจะทำขนมหวาน ก็เป็นที่ชอบของเทพและนักบวช
จะเรียกขนมชนิดหนึ่งว่า โมทกะ (ขนมต้ม) เป็นขนมหวาน ทำให้หวานโดยใช้น้ำตาลงบน้ำอ้อย เมื่อจัดเตรียมของต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญเทพเจ้าให้มารับการสักการะของที่จัดถวายไว้ ขอความเป็นมงคลให้กับงานนั้นๆ และแสดงความกตัญญูที่ท่าน
มีเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ต้นอ้อย ต้นกล้วย ที่ใช้จัดบูชาเป็นเครื่องแสดงความอุดมสมบูรณ์และตบะเดชะ ความหวานแสดง
ถึงปัญญา และที่สำคัญเป็นของวิเศษที่ท่านวิศวามิตรฤาษีได้สร้าง เป็นของซึ่งไม่มีบนสวรรค์ เป็นอาหารทิพย์ ต้นอ้อยจะมีเฉพาะในโลก
มนุษย์เท่านั้น

การจัดหาสิ่งของที่เป็นทิพย์ถวายเทพยดานั้น ก็เพื่อต้องการความเป็นมงคลสำหรับงาน เพราะผู้ที่สามารถทำให้เป็นของทิพย์หรือรู้วิธีนั้น
จึงต้องขอพรให้ท่านประทานให้ เรามีของวิเศษแต่ไม่สามารถทำให้เป็นทิพย์ได้ จำเป็นต้องขออัญเชิญเทพยดาให้ประทานพรให้ ท่านก็
จะรับของทิพย์และประทานให้ (ท่านเป็นผู้รู้วิธีทำ) เราเพียงเตรียมสิ่งของต่างๆ แล้วอัญเชิญท่านให้มาในงาน เพื่อความดี และของในพิธี
จึงเป็นของทิพย์ มีตบะเดชะ สามารถเสริมความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น เป็นที่ปรารถนาของผู้มาร่วมพิธีจะได้รับพรและมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถ
ปฏิบัติธรรมขั้นสูงให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ตำนานและพิธีกรรมนั้นมีรายละเอียดอยู่มาก จึงขอย่อและเขียนไว้พอสังเขป

๑๗๓

๑๕๒ มาตราหนึ่ง ผู้ใดเอาผีไปบ้านเรือนท่าน ให้พลีบ้านเรือนท่านเล่าหามหนึ่ง หัวหมูเมี่ยงหมากพลูกล้วยอ้อย ให้หมอเสียสเดียดจันไร แลให้พระสงฆสวดมนต์ทำบุญเอาเบี้ย ๑๒๐๐๐ ให้แก่หมอ ถ้าเอาผีไปซัดไว้ในที่ไร่นาเรือกสวนท่าน ให้พลีเล่าขวดหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง เข้าสารเมี่ยงหมากพลู ราชวัตฉัตรธงสวดพระพุทธมนต์ฉัน ๓-๕ วันถ้ามีพลีเรือนที่บ้านไร่นา เรือกสวนท่าน ผู้เคนของท่านจบไข้ ให้ปรับไหม ถ้าตายหาย ให้ทำค่าของซึ่งตายหายนั้นเปนสามส่วน ให้มันใช้ส่วนหนึ่ง เพราะมันหาพิจารณามิได้


๑๗๔
๑๕๓ มาตราหนึ่ง ผู้ใดเสียเคราะห์แลเอากระบวนผีไปทิ้งไว้ในบ้านท่าน ให้พลีที่บ้าน หัวหมู เมี่ยงหมากพลูกล้วยอ้อยไบศรีสำหรับหนึ่ง ฉัตรธงทูปเทียนให้สวดมนต์ทำบุญ ถ้ามิพลีที่บ้านนั้น ผู้คนแลสัตวของท่านป่วยไข้ ให้ปรับไหม ให้ทำค่าสิ่งของนั้นเปนสามส่วน ให้มันใช้ส่วนหนึ่ง

๑๗๕
๑๕๔ มาตราหนึ่ง ผู้ใดพลีการแก่ท่านแลเทพดาก็ดี พลีการแก่ภูตปีศาจก็ดี ถ้าเอาไปเสียชายคาท่าน แลพ้นบันไดท่านแลเจ้าเรือนเกิดอุบัทวโรคไซ้ ควรให้เสียค่ายาโรคแก่ท่าน ถ้าเจ้าเรือนถึงแก่มรณภาพควรให้ผู้นั้นเสียค่าตัวผู้ถึงมรณภาพนั้น


หมายเหตุ

ท่านพระครูได้กรุณาส่งบทความสั้นๆนี้มาเพื่อตีพิมพ์ น่าเสียดายที่ท่านไม่ใคร่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึงรายละเอียดอันควรรู้เกี่ยวกับพิธีกรรม
ต่างๆ ซึ่งจะต้องมีอ้อยและน้ำตาลเป็นเครื่องตกแต่งประกอบมณฑลพิธี บรรณาธิการจึงขอคัดข้อความจากกฎมณเฑียรบาลมาลงประกอบไว้
อย่างน้อยก็คงช่วยให้ผู้สนใจทราบเพิ่มเติมว่า ในสมัยอดีตคนไทยได้ใช้อ้อยและน้ำตาลในพิธีกรรมกันอย่างไร

 

 

 

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ

บทที่ 1 ความเป็นมาของการทำน้ำตาลพื้นบ้าน

หากมองย้อนไปดูวิถีชีวิตของคนไทยสมัยโบราณ จะเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ปัจจัยในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่สามารถผลิตได้เอง
แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอาหารหลักๆ นั้น ได้มาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ กรรมวิธีในการแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติให้เป็นอาหาร
ประเภทต่างๆ ได้จากการเรียนรู้และประสบการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป พัฒนาปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นทีละน้อยๆ จนได้อาหารที่มี
ประโยชน์และรสชาติดีการทำน้ำตาลพื้นบ้านเป็นกรรมวิธีแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติให้เป็นอาหารที่มีรสหวาน หรือนำไปประกอบ
กับอาหารอื่นให้มีรสหวาน น้ำตาลของไทยมีหลายชนิด และทำจากวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิดและมีกรรมวิธีต่างกันไปอย่างน่าสนใจ

ต้นตาลโตนดเข้ามาสู่ประเทศสยามเมื่อใด ไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่อาจปลูกกันมานานเกือบพันปีมาแล้ว ดังปรากฏในประวัติศาสตร์
สุโขทัย ว่าเมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1822 ได้โปรดปลูกต้นตาลขึ้นที่กลางเมืองสุโขทัยตามประเพณีที่มี
มาแต่โบราณ จึงเป็นไปได้ว่าต้นตาลเป็นพืชที่มีอยู่ก่อนสมัยสุโขทัยและในสมัยสุโขทัยก็ยังนิยมปลูกกันอยู่ ดังที่ปรากฏใน ศิลาจารึก
สุโขทัยหลักที่ 1” (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ประมาณ พ.ศ. 1826) ด้านที่ 3 ตอนหนึ่งว่า “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง
เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้..แม้จะมีหลักฐานว่ามีการปลูกตาลโตนดมา
แต่สมัยสุโขทัยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการทำน้ำตาลจากน้ำหวานของตาลโตนด แต่ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการทำน้ำตาลแล้ว และคนไทยอาจจะได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำตาลจากชาวอินเดียที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศสยามในอดีต การทำน้ำตาลจากน้ำตาลสดหรือน้ำหวานจากต้นตาลนั้น คงทำกันมาช้านานและทำสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กรรมวิธีและเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ในการทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านนั้น เป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

ตาลโตนดเป็นพืชที่โตช้าแต่มีอายุยืนมากอาจจะถึงร้อยปีและเป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ เฉพาะที่
อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาแห่งเดียวมีต้นตาลโตนดหลายแสนต้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยได้เรียนรู้การทำน้ำตาลจากต้น
ตาลโตนดจากชาวอินเดีย อาจจะก่อนที่จะรู้วิธีทำน้ำตาลจากต้นอ้อย แต่ตามประวัติการทำน้ำตาลของชาวตะวันตกเชื่อว่า น้ำตาล (sugar)
นั้น ทำจากน้ำอ้อยมากกว่าจากต้นตาล กล่าวกันว่าวิธีทำน้ำตาลจากประเทศอินเดียแพร่มายังดินแดนอินโดจีนไปยังกลุ่มประเทศอาหรับ
ไปสู่ยุโรปในที่สุด คำว่า “sugar” นั้น มาจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤตว่า Sarkara หรือ sakkara หมายถึงทรายหรือกรวด อาจจะเป็นลักษณะของน้ำตาลทรายและน้ำตาลกรวดซึ่งมาเป็นคำว่า sakkar อารบิก และเป็น sakharon ในภาษากรีก และเป็น
“sugar” ในภาษาอังกฤษในที่สุด

ส่วนคำว่าน้ำตาลในภาษาไทยนั้นน่าจะหมายถึงน้ำตาลที่ทำมาจากต้นตาลโตนด เพราะคำว่าตาลเป็นภาษาบาลี อาจจะมาจาก
ภาษาเดิมจากอินเดีย ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยรู้จักน้ำตาลที่ทำจากน้ำตาลสดก่อนน้ำตาลที่ทำจากน้ำอ้อย แต่โดยทั่วไปแล้ว คนไทย จะเรียกอาหารที่มีรสหวานว่าน้ำตาลแทบทั้งสิ้น

ความหมายของคำว่าเกี่ยวกับน้ำตาลที่ปรากฏใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอ บรัดเล เขียนเมื่อ พ.ศ. 2416 ต้นรัชกาลที่ 5
มีคำว่าน้ำตาลชนิดต่างๆ ดังนี้

น้ำตาล คือ น้ำที่ไหล หยด ออกมาจากงวงตาลนั้น,
น้ำตาลกรวด, คือ น้ำตาลที่เป็นก้อนแข็งเหมือนกรวดนั้น, เหมือนน้ำตาลกรวดที่ทำด้วยน้ำตาลทราย,
น้ำตาลงบ, คือ น้ำตาลที่เขาทำเป็นงบๆ นั้น เช่น งบอ้อย,
น้ำตาลจาก, คือ น้ำตาลที่เขาทำจากงวงจากนั้น เช่น น้ำตาลมะพร้าว,
น้ำตาลทราย, คือ น้ำตาลที่เป็นเม็ดๆ เหมือนทรายนั้น,
น้ำตาลตะงุ่น, คือ น้ำตาลที่เขี่ยวไว้ข้นๆ นั้น เช่น น้ำตาลตะงุ่นเมืองเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลโตนฎ, คือ น้ำตาลที่เกิดแต่ต้นโตนฎนั้น เช่น น้ำตาลเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลปี่, คือ น้ำตาลที่ใส่เป็นรูปปี่นั้น เช่น น้ำตาลเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลปึก คือ น้ำตาลที่เขาหลอมเป็นปึกนั้น เช่น น้ำตาลงบ,
น้ำตาลเตา, คือ น้ำตาลที่เขาเคี่ยวมาจากเตานั้น เช่น น้ำตาลม่อนั้น,
น้ำตาลม่อ, คือ น้ำตาลที่เขาหยอดใส่หม้อนั้น เช่น น้ำตาลที่เขาขายตามตลาด,
น้ำตาลมะพร้าว, คือ น้ำตาลที่เกิดแต่มะพร้าวนั้น,
น้ำตาลหลอม, คือ น้ำตาลที่เหลวไปแล้วหลอมใส่หม้ออีกครั้งหนึ่ง เช่น น้ำตาลหลอม เพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลสด, คือ น้ำตาลที่รองมาใหม่ๆ ยังไม่ได้เคี่ยวให้แห้งนั้น เช่น น้ำตาลในกระบอก,
น้ำตาลส้ม, คือ น้ำตาลที่ดองไว้ให้เปรี้ยว เช่น น้ำส้มกินเมา...

น้ำตาลที่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ดังกล่าว ล้วนเป็นน้ำตาลพื้นบ้านที่ชาวบ้านทำเพื่อกินในครัวเรือนหรือทำจำหน่ายโดย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรผลิตอย่างระบบอุตสาหกรรมแต่เป็นการผลิตแบบพื้นบ้าน ในสมัยนั้นเมืองเพชรบุรีจะเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลโตนด
ที่สำคัญ เมื่อทำน้ำตาลได้แล้วมักใส่ หม้อตาลนำไปขายยังถิ่นต่างๆ การทำหม้อตาลจึงเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดขึ้นคู่กับการทำ
น้ำตาลโตนดของเพชรบุรี การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านนั้น ยังทำสืบต่อกันเรื่อยมาดังปรากฏชื่อน้ำตาลชนิดต่างๆ ในพจนานุกรมฉบับราช
บัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายว่า

น้ำตาล.สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรต์และไดแซ็กคาไรต์ ซึ่งมีรสหวาน โดยมากได้จากตาล มะพร้าว อ้อย, ถ้าเป็นความหมายเฉพาะอย่างและทำด้วยอะไร ก็เติมคำนั้นๆ ลงไป เช่น ทำจากตาล เรียกน้ำตาลโตนด, ทำจากมะพร้าว เรียกว่าน้ำตาล
มะพร้าว, ทำเป็นงบ เรียกว่าน้ำตาลงบ, ทำจากอ้อย แต่ยังไม่ได้ทำให้เป็นน้ำตาลทราย เรียกว่าน้ำตาลทรายดิบ, ทำเป็นเม็ดๆ เหมือนทราย
เรียกว่าน้ำตาลทราย, ทำเป็นก้อนแข็งๆ เหมือนกรวด เรียกว่าน้ำตาลกรวด, เคี่ยวให้ข้นๆ เรียกว่าน้ำตาลตงุ่น, หยอดใส่ใบตาลทำเป็นรูปปี่
เรียกว่าน้ำตาลปี่, หลอมเป็นปึก เรียกว่าน้ำตาลปึก, หยอดใส่หม้อ เรียกว่าน้ำตาลหม้อ, รองมาใหม่ๆ ยังไม่ได้เคี่ยว เรียกว่าน้ำตาลสด,
ถ้าต้มให้เดือด เรียกว่าน้ำตาลลวก, ถ้าใส่เปลือกตะเคียน หมักเกลือ หรือเคี่ยม เป็นต้น หมักไว้ระยะหนึ่งจนมีแอลกอฮอล์ กินแล้วเมา
เรียกว่าน้ำตาลเมา...

ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าคนไทยทำน้ำตาลจากพืชหลายชนิด ตั้งแต่ ต้นอ้อย ตาลโตนด มะพร้าว หญ้าคา และจาก จนถึงน้ำผึ้งจากรวงผึ้ง
และเรียกอาหารที่มีรสหวานเหล่านั้น ต่างกันไปตามวัตถุดิบ แต่โดยรวมแล้วมักจะเรียกน้ำตาล คนไทยรู้ได้อย่างไรว่า พืชเหล่านี้มีน้ำหวาน
และรู้วิธีเอาน้ำหวานจากพืชนั้นๆ มาทำน้ำตาลได้อย่างไร ภูมิความรู้เหล่านี้คงค่อยๆ เรียนรู้และบอกเล่ากันต่อๆ มาอย่างช้าๆ เป็นเวลา
นานนับร้อยๆ ปี กว่าที่จะมีความรู้อย่างแท้จริงจนสามารถนำน้ำหวานจากต้นไม้เหล่านั้นมาทำเป็นน้ำตาลได้สำเร็จ

ขั้นตอนการนำน้ำหวานจากพืชที่ให้น้ำหวาน และการทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านของไทย แบ่งเป็นสองประเภท คือ วิธีเอาน้ำหวานจาก
ตาลโตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคา มีกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกันประเภทหนึ่ง วิธีเอาน้ำอ้อยออกจากต้นอ้อยประเภทหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการและใช้เครื่องมือที่แตกต่างไปอีกแบบหนึ่ง ส่วนขั้นตอน กรรมวิธี และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำน้ำตาลจากน้ำตาล และ น้ำอ้อยให้เป็นน้ำตาลนั้นคล้ายคลึงกันแทบทั้งสิ้น ขั้นตอนกรรมวิธีและเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำน้ำตาลพื้นบ้านของไทยนั้น เป็นภูมิ
ปัญญา ของไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันน้ำตาลบางชนิดชาวบ้านไม่ทำแล้ว เพราะมีน้ำตาลทรายและสารอาหาร
อื่นๆ ที่ใช้สะดวกและหาซื้อได้ง่าย น้ำตาลพื้นบ้านหลายชนิดจึงสูญหายไปไม่มีผู้ใดทำ ได้แก่ น้ำอ้อยงบ น้ำตาลปี่ น้ำตาลปึก น้ำตาลตะงุ่น
เป็นต้น

 

 

 

หน้าหลัก > มิตรผลแหล่งรวมความรู้ > สหวิทยาการอ้อย

 

บทที่ 2 เครื่องมือเครื่องใช้และวิธีนำน้ำหวานมาทำน้ำตาล

การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านของไทยนั้น เครื่องมือเครื่องใช้และกรรมวิธีในการนำน้ำหวานจากพืชที่ให้น้ำหวานมาทำเป็นน้ำตาลนั้นเป็น
ขั้นตอนสำคัญที่สุด เพราะหากไม่สามารถนำน้ำหวานมาเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำตาลได้แล้ว ก็ทำน้ำตาลไม่ได้ เครื่องมือเครื่องใช้และ วิธีการนำน้ำหวานจากต้นไม้และพืชมาทำน้ำตาล แบ่งเป็นสองประเภท คือ เครื่องมือเครื่องใช้และวิธีการนำน้ำหวานหรือน้ำตาลจากต้น
ตาลโตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคา ประเภทหนึ่ง และเครื่องมือเครื่องใช้ในการนำน้ำอ้อยจากต้นอ้อยมาทำน้ำตาล

เครื่องมือเครื่องใช้และกรรมวิธีในการนำน้ำหวานจากตาลโตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคา มาทำน้ำตาลนั้น ใช้เครื่องมือเครื่องใช้และมีกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกัน คือ ใช้มีดปาดงวงตาลหรืองวงมะพร้าวและงวงต้นจากให้น้ำหวานไหลออกมาแล้ว
เอากระบอกไปรองมาทำน้ำตาล หรือนำต้นอ้อยมาหีบหรือคั้นให้น้ำอ้อยไหลออกมาจากต้นอ้อยนั้นมีวิธีง่ายๆ ที่เกิดจากการสังเกตและ การเรียนรู้ที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปีจนใช้ประโยชน์ได้สมบูรณ์ตามความต้องการ

เครื่องมือเครื่องใช้ในการนำน้ำหวานจากต้นตาล ต้นมะพร้าว ต้นจาก และหญ้าคานั้นมีไม่กี่ชนิด ดังนี้

พะอง ลำไม้ไผ่สำหรับใช้ปีนต้นตาลและต้นมะพร้าว มักใช้ลำไม้ไผ่สีสุกที่แก่จัด มีตา และกิ่งแขนงบนปล้องข้อแต่ละข้อใหญ่ ตัดแขนง
ให้เหลือประมาณ 1 คืบ เพื่อใช้เป็นที่เหยียบขณะที่ปีนขึ้นต้นตาลหรือต้นมะพร้าว หากหาลำไม้ไผ่ที่มีแขนง เหมาะสำหรับทำพะองไม่ได้
ก็ใช้ลำไม้ไผ่ทั่วๆ ไปนำมาเจาะรูเหนือปล้องข้อแล้วใช้ไม้กลมๆ ตอกเป็นสลักสำหรับเหยียบแทนแขนงไม้ไผ่ โดยเจาะปล้องเว้นปล้อง
แล้วเสียบลูดพะองสลับซ้ายขวา ชาวบ้านจะใช้ตอกไม้ไผ่หรือหวายผูกพะองเป็นเปราะๆ จากโคนต้นเรื่อยไปจนถึงคอตาล ความยาวของ พะองขึ้นอยู่กับความสูงของต้นตาลหรือต้นมะพร้าว หากสูงมากอาจจะต้องใช้สองลำต่อกัน

พะองช่วยให้คนขึ้นไปทำน้ำตาลบนยอดต้นตาลหรือยอดมะพร้าวได้สะดวกและรวดเร็ว แต่พะองก็มีข้อเสียคือมักจะผุเมื่อตากแดดตาก
ฝนอยู่นานๆ ถ้าคนขึ้นตาลไม่ระวังอาจจะเหยียบแขนงหรือสลักที่ผุแล้วลื่นตกได้ ดังนั้น คนขึ้นตาลจะต้องคอยเปลี่ยนพะองใหม่ หากพบว่า พะองที่ใช้อยู่ผุหรือตอกที่รัดพะองกับต้นตาลหรือต้นมะพร้าวขาดหรือหลุด การขึ้นตาลนี้ หากต้นตาลหรือต้นมะพร้าวไม่สูงนัก ชาวบ้าน
มักปีนขึ้นไปด้วยเท้าเปล่า โดยใช้ปลอกเชือกที่ทำเป็นห่วงคล้องเท้าทั้งสองให้โอบกระชับกับลำต้น แล้วปีนขึ้นไปคล้ายการกระโดดเป็น
จังหวะๆ ไปจนถึงยอดตาล

การขึ้นไปทำตาลบนยอดตาลและยอดมะพร้าวต้องเสี่ยงอันตรายไม่น้อย โดยเฉพาะต้นตาลหรือต้นมะพร้าวที่สูงมากๆ อาจพลัดตกลงมาได้ เหตุที่พลัดอาจเป็นเพราะเผอเรอหรือตกใจเมื่อขึ้นไปเจองู ตะกวด บนยอดตาลหรือยอดมะพร้าว ปัจจุบันการทำน้ำตาลจากต้นตาลและต้น
มะพร้าวลดจำนวนลงไปมาก

กระบอกตาล ภาชนะสำหรับใส่น้ำตาลหรือน้ำหวานจากต้นมะพร้าวทำด้วยไม้ไผ่ลำโตๆ เช่น ไม้ไผ่ตง ไม้ไผ่สีสุก หากปล้องยาวใช้
ปล้องเดียว ด้านหนึ่งตัดข้อออกเป็นปากกระบอก อีกด้านเหลือข้อไว้เป็นก้นกระบอก ถ้าเป็นไผ่ปล้องสั้นต้องใช้สองปล้อง โดยทะลวงข้อ
คั่นปล้องด้านหนึ่งออก แต่งปากกระบอกให้เรียบ หากเป็นไม้เนื้อหนามักผ่าเอาผิวออกบ้าง เพื่อให้กระบอกไม่หนักจนเกินไป เสร็จแล้ว
เจาะรู ใต้ขอบปากสองรูเพื่อร้อยเชือกเล็กๆ เป็นหูสำหรับแขวน หิ้ว และหาบ กระบอกตาลนี้บางท้องถิ่นเจ้าของ อาจจะทำอย่างดีแล้วสลัก
ชื่อต้นตาลที่ใช้เป็นประจำลงไปด้วย

กระบอกตาลมี 2 ชนิด คือ กระบอกแช่เป็นกระบอกสำหรับใส่โคลนเหลวๆ แช่งวงตาลเพื่อให้ตาลขับน้ำหวานมาคั่งที่ปลายงวง
ก่อนที่จะปาดหน้างวงให้น้ำหวานหยดลงในกระบอกตาลกระบอกตาลหรือ กระบอกน้ำตาลที่ใช้รองน้ำตาลสดจากงวงตาลหรืองวง
มะพร้าว ภาคใต้เรียก กระบอกหวากหรือ บอกหวาก ใช้ใส่น้ำตาลสดหรือน้ำตาลเมา หากใช้รองรับน้ำตาลสดจากปลายงวงจะต้อง
เป็นกระบอกที่สะอาด ต้องลวกด้วยน้ำตาลสดที่กำลังเดือด แล้วคว่ำปากกระบอกย่างไฟ หรือผึ่งแดดให้แห้งทุกครั้งก่อนที่จะใช้รองน้ำตาลสด ก่อนที่จะนำไปรองน้ำตาลสดจะต้องใส่เสก็ด ไม้เคี่ยมหรือเสก็ดไม้พะยอมลงไปในกระบอกเล็กน้อย เพราะจะช่วยให้น้ำตาลสดไม่เปรี้ยว
หรือบูดเสียเร็ว

มีดปาดตาล หรือ มีดตัดตาล เป็นมีดบาง ปลายแหลม ยาวประมาณสองคืบ ทำด้วยเหล็กกล้าที่เหนียวเป็นพิเศษเพื่อให้มีดคมและคงทน ด้ามทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์โค้งรับกับตัวมีด มักมีฝักทำด้วยไม้หรือใช้กาบหมากมาพับเป็นซองหุ้มอย่างง่ายๆ เพื่อป้องกันมีดบาดขณะ
ที่เหน็บมีดกับเอวขึ้นไปปาดตาล มีดปาดตาลจะต้องลับให้คมอยู่เสมอ มีดปาดตาลเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำตาลโตนดและตาลมะพร้าว คนทำตาลจะต้องมีมีดปาดตาลติดตัวขึ้นไปปาดงวงตาลบนยอดตาลทุกครั้ง

ดังกล่าวแล้ว เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการนำน้ำตาลสดจากต้นตาลโตนดหรือต้นมะพร้าวมาทำน้ำตาล ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน เพียงไม่กี่อย่างที่ชาวบ้านมักทำใช้เองแทบทั้งสิ้น คนทำตาลจะต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ตามกรรมวิธีและขั้นตอนที่สืบทอดกันมา
แต่บรรพบุรุษ

การนำน้ำตาลสดหรือน้ำหวานจากงวงตาล งวงมะพร้าว และงวงจากมาทำเป็นน้ำตาลนั้น มีกรรมวิธีและขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

การเลือกงวงตาลและงวงมะพร้าว คนทำตาลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับต้นตาลโตนดและต้นมะพร้าว เช่น ต้นตาลโตนดจะให้น้ำตาลเมื่อ
อายุประมาณ 12 ปี ตาลตัวผู้จะออกงวงเป็นช่อ แต่ไม่มีผล ตาลตัวเมียจะออกงวงเป็นทะลายแล้วเติบโตกลายเป็นผลหรือลูกตาล ตาลโตนด จะออกงวงราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ หลังจากตาลออกงวงได้ประมาณ 15 วัน เจ้าของตาลหรือคนทำน้ำตาลจะต้องทำพะองหรือ
ปีน ขึ้นไปผูกงวงตาล โดยผ่าใบตาลบิดเป็นเกลียวผูกงวงตาลโยงกับทางตาลที่อยู่เหนืองวงตาลขึ้นไปให้งวงตาลกระดกขึ้น หากเป็นตาล ตัวผู้จะต้องมัดงวงตาลที่แยกออกจากกันให้รวมกัน แล้วค่อยๆ โน้มงวงตาลให้โค้งลง จากนั้นใช้ ไม้คาบตาลหรือไม้นวดงวงตาลตีที่
งวงตาลเป็นจังหวะวันละ 2 – 3 ครั้ง ประมาณ 4 – 5 วัน เพื่อกระตุ้นให้น้ำหวานของตาลมาคั่งที่งวง จากนั้นลองใช้มีดปาดที่ปลายงวง
ดูว่ามีน้ำตาลไหลหรือไม่ หากน้ำตาลยังไม่ไหลจะต้องปาดงวงให้สูงขึ้นไปอีก ถ้าเป็นตาลตัวเมียจะต้องปลิดลูกทิ้งให้หมด แต่งงวงให้กลม
หากน้ำตาลเริ่มไหลก็เอา กระบอกแช่ใส่โคลนมาแช่งวงตาล โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณหนึ่งวันกับคืนหนึ่งจึงเอากระบอกออกเทโคลนใส่
ยอดตาล ล้วงงวงตาลให้สะอาด แล้วปาดหน้างวงให้พ้นรอยโคลนที่งวงตาล ซับเอาไว้น้ำตาลที่ไหลออกใหม่ๆ จะมีเมือกตาลเจือปนอาจ
จะต้องเททิ้งหรือนำไปทำน้ำส้ม เมื่อน้ำตาลสดสะอาดแล้ว จึงเริ่มปาดปลายงวงแล้วใช้กระบอกกรองน้ำตาลสดไปขายหรือนำไปทำ
น้ำตาลต่อไป

การใช้กระบอกรองน้ำตาลสดจะต้องรักษาความสะอาดของกระบอกทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนกระบอกตาลที่นำไปรองน้ำตาลสด การปาดตาล ทั้งตาลโตนดและตาลมะพร้าวมักจะปาดวันละ 2 เวลา คือ ปาดตอนเช้าแล้วเก็บกระบอกตาลตอนเย็น และปาดตอนเย็นแล้วเก็บน้ำตาลสด
ตอนเช้า ติดต่อกันหลายสิบปี จนกว่าจะได้น้ำตาลน้อยและลำต้นสูงเกินไปไม่คุ้มกับการเสี่ยงอันตรายและเสียเวลา คนขึ้นตาลคนหนึ่งอาจ
จะขึ้นตาลได้ประมาณวันละ 20 ต้น ได้น้ำตาลสดราว 20 – 25 ลิตร (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้, สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ, อมรินทร์การพิมพ์, 2529, หน้า 1267 – 1272)

การทำตาลโตนดแต่เดิมจะทำกันมากในบริเวณที่มีต้นตาลโตนดมาก เช่น บริเวณจังหวัดนครปฐม เพชรบุรี และในภาคใต้บางท้องถิ่นใน
จังหวัดพัทลุงและสงขลา เฉพาะจังหวัดเพชรบุรีนั้นเป็นแหล่งทำน้ำตาลโตนดมาแต่โบราณ ส่วนการทำน้ำตาลมะพร้าวทำกันมากใน บริเวณจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร

พืชที่ให้น้ำหวานและสามารถนำมาทำน้ำตาลได้อีกชนิดหนึ่ง คือ จาก (พืชในวงศ์ Palmae ชื่อวิทยาศาสตร์ Nypa fruticanswurmb)
หรือต้นจาก ซึ่งเติบโตและเจริญงอกงามได้ดีในบริเวณดินเค็มหรือน้ำกร่อยที่เป็นโคลนตม จึงมีมากในบริเวณริมแม่น้ำลำคลองในจังหวัด
ชายทะเล เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส โดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดต่างๆ ใน
ภาคใต้ จากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ที่สำคัญสามารถนำน้ำหวานจากต้นจากมาทำน้ำตาลได้เช่นเดียวกับน้ำหวาน
จากต้นตาลโตนดและต้นมะพร้าว

การนำน้ำหวานจากงวงจากมาทำน้ำตาลมีกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกับการทำน้ำตาลสดจากตาลโตนดและมะพร้าว คือ ใช้มีดปาดปลายงวง จากให้น้ำหวานไหลออกมาเช่นเดียวกัน น้ำหวานหรือน้ำตาลจากมีรสหวานจัดกว่าน้ำตาลโตนดและน้ำตาลมะพร้าว การทำน้ำตาลจาก
จะต้องเลือกงวงจากที่มีลูกกำลังกิน (ภาคใต้เรียกพอทรามกินหรือจากหนุ่ม) ที่งวงสีเหลืองเข้มอมน้ำตาล จุกมีสีน้ำตาล สันพูมีสีน้ำตาลแก่ หากมีลูกอ่อนหรือแก่เกินไปจะให้น้ำหวานน้อยหรือน้ำหวานไม่ออก

เมื่อได้งวงและทะลายที่ต้องการแล้ว ต้องตีงวงหรือนวดงวงด้วยการใช้ไม้ตีตาลซึ่งเป็นท่อนไม้กลมๆ ตีงวงตาล โดยเริ่มจากการตี
เบาๆ คล้ายกับการเคาะ ต้องตีลักษณะเดียวกันทุกวัน วันละครั้ง ครั้งหนึ่งตีประมาณ 100 ครั้ง เมื่อตีเสร็จแล้ว โยกงวงทางซ้ายทีขวาที การตีงวงและโยกงวงนี้ทำติดต่อกันไปประมาณ 10 วัน แล้วหยุด 7 วัน แล้วตีต่อไปอีก 9 – 10 วัน ในระหว่างนี้ทดลองใช้มีดปาดงวง
ดูว่ามีน้ำเยิ้มออกมาหรือไม่ หากมีน้ำหวานก็เริ่มปาดและรองน้ำหวานได้ หากไม่มีน้ำหวานก็จะต้องตีและโยกต่อไปอีกสัก 1 – 2 วัน การ
ปาดงวงจากจะปาดได้วันละครั้ง คือปาดตอนเย็นแล้วเอากระบอกรองไว้ รุ่งเช้าจึงเก็บกระบอกน้ำหวานไปแล้วเปลี่ยนกระบอกในตอนเย็น
และปาดงวงด้วย (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 2 หน้า 740 – 745)

กระบอกสำหรับรองน้ำหวานจาก ใช้กระบอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับกระบอกตาล แต่จะมีขนาดเล็กกว่า คือ ต้องพอดีกับขนาดของงวง หากใช้ กระบอกใหญ่เกินไปจะทำให้สัตว์ลงไปกินน้ำหวาน ทำให้น้ำหวานสกปรกและเสียหาย กระบอกน้ำหวานจากจะต้องใส่สะเก็ดไม้เคี่ยม
เพื่อป้องกันน้ำหวานเปรี้ยวเช่นเดียวกับการรองน้ำตาลโตนดและน้ำตาลมะพร้าว

แหล่งน้ำหวานจากธรรมชาติที่นำมาทำน้ำตาลได้อีกชนิดหนึ่ง คือ หญ้าคาซึ่งเป็นหญ้าที่มีอยู่ทั่วไป แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า หญ้าชนิดนี้
จะให้น้ำหวานจนสามารถนำมาทำน้ำตาลได้ ชาวบ้านในภาคใต้บางท้องถิ่นเรียนรู้การนำน้ำหวานจากหญ้าคามาทำน้ำตาลแต่โบราณ

การทำน้ำหวานจากหญ้าคาจะต้องเลือกบริเวณที่มีหญ้าคาขึ้นหนาแน่นและแตกใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม โดยขุดดินเป็น
ร่องให้ลึกประมาณ 2 – 3 ฟุต กว้างประมาณ 1 – 2 ฟุต ยาวตามความพอใจ ตัดใบทิ้งครึ่งหนึ่งแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน เมื่อรากงอก
ออกมาในบริเวณที่ขุดไว้แล้วรวบรากเป็นกำๆ กำละ 10 – 15 ราก ให้เป็นแนวจากนั้นใช้กระดานหรือไม้กลมๆ ทับให้ต้นหญ้าราบลงกับ
พื้น ใช้เท้าเหยียบย่ำเช้าและเย็นประมาณ 4 – 7 วัน ใช้มีดคมๆ ปาดรากหญ้าคาอย่างปาดงวงตาล จะมีน้ำหวานไหลออกมา ใช้ภาชนะ
รองเอาน้ำหวานไปทำน้ำตาลต่อไป การทำน้ำตาลหญ้าคานี้ เคยมีทำ (พ.ศ. 2512) เฉพาะในภาคใต้บางท้องถิ่นเท่านั้น คือ บ้านทุ่งนุ้ย
อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และบ้านเขาพระ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัติภูมิ จังหวัดสงขลา (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 3
หน้า 1272) ปัจจุบันคงไม่มีทำแล้ว

เครื่องมือเครื่องใช้และกรรมวิธีในการทำน้ำหวานจากพืชต่างๆ เหล่านี้ คนไทยทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ จะเห็นว่าเป็นเครื่องมือเครื่อง
ใช้ที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง และกรรมวิธีให้ได้น้ำหวานมาทำน้ำตาลก็เป็นกรรมวิธีที่ไม่ซับซ้อน แต่อาศัยการเรียนรู้ การสังเกต และการ แก้ไขปรับปรุงสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่มีอยู่ก่อนที่ระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในการ
ผลิตน้ำตาลสมัยใหม่จะเข้ามาแทนที่ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านจากตาลโตนดและมะพร้าวก็ยังมีทำกันอยู่ในบางท้องถิ่น
ได้แก่ บางท้องถิ่น ในจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สงขลา และพัทลุง เป็นต้น

เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการนำน้ำหวานจากพืชมาทำน้ำตาลอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการนำน้ำหวานจากต้นอ้อยมาทำน้ำตาลหรือนำน้ำอ้อยมาทำน้ำตาล ซึ่งใช้เครื่องมือและมีวิธีการที่แตกต่างไปจาก
การนำน้ำตาลจากตาลโตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคา เครื่องมือที่ใช้สำหรับคั้นหรือหีบอ้อย เรียกว่าเครื่องหีบอ้อย

เครื่องหีบอ้อยแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อใช้หีบอ้อยนั้นมีรูปแบบต่างกันไปตามความสามารถของช่างแต่ละถิ่น เฉพาะเครื่อง
หีบอ้อยที่ต้องการน้ำอ้อยปริมาณมากๆ นั้น เป็นเครื่องมือพื้นบ้านกึ่งอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบและการใช้งานที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่
แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องหีบอ้อยชนิดพูเกลียว และ ชนิดพูเดือยหรือพูทอย

พูซึ่งเป็นเครื่องจำแนกชนิดเครื่องหีบอ้อยคือ ส่วนประกอบที่เป็นเฟือง เพื่อให้ท่อนไม้ที่เป็นลูกหีบหมุนขบกัน ทำด้วยไม้ มีสองชนิด
คือ ชนิดที่แกะสลักเป็นพูในเนื้อลูกหีบ และชนิดที่ทำด้วยไม้แล้วตอกฝังลงไปในไม้ลูกหีบ พูทั้งสองชนิดนี้ต้องยื่นออกมา จากลูกหีบและ ขบกันอย่างมีจังหวะลงตัวเพื่อให้ลูกหีบหมุนไปพร้อมๆ กันเมื่อหีบอ้อย

เครื่องหีบอ้อยชนิดพูเกียว ประกอบด้วย ท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 หรือ 3 ท่อน เรียก ลูกหีบซึ่งสูงประมาณ 1 เมตรเศษ แต่ละท่อน
สลักให้เป็นเกลียวคล้ายสกรู เมื่อตั้งเรียงชิดกันแล้วเกลียวจะขบกันพอดี ลูกหีบแต่ละอันจะมีแกนเล็กๆ ที่หัวและท้ายสำหรับฝังลงในรู
ของแผ่นไม้ที่ทำเป็นฐาน และแผ่นไม้ที่ปะกับด้านบน เฉพาะลูกหีบอันกลางจะมีแกนด้านบนยาวพ้นไม้ปะกับขึ้นไป ถ้าเป็นชนิดมีลูกหีบ
สองลูก ลูกหนึ่งจะต้องมีแกนโผล่ทะลุไม้ปะกับด้านบนขึ้นไปและต้องเจาะรูไว้สำหรับสอดไม้คันชั่งซึ่งเป็นไม้ยาวๆ สำหรับใช้เป็นที่
หมุนลูกหีบ อาจจะใช้คนหมุนหรือเทียมด้วยวัวหรือควาย แผ่นไม้ที่ทำเป็นฐานมักมีขนาดใหญ่เซาะเป็นรางให้น้ำอ้อยไหลไปลงภาชนะ
สำหรับใส่น้ำอ้อย ส่วนด้านข้างของฐานไม้และไม้ปะกับด้านบนทั้งสองข้างจะมีแผ่นไม้หรือเสาไม้ยึดเป็นโครงเครื่องหีบอ้อยให้มั่นคง เมื่อหมุนไม้คันชั่งของลูกหีบอันกลางหรือลูกหีบหลักจะหมุน พูหรือเกลียวของลูกหีบขบกันเหมือนเฟืองทำให้ลูกหีบทั้งสามลูกหมุนไป
พร้อมๆ กัน เมื่อเอาต้นอ้อยสอดเข้าไประหว่างลูกหีบ ลูกหีบก็จะเบียดกันรีดให้น้ำอ้อยไหลออกจากต้นอ้อย ไหลลงไปบนฐานและไหลไป
ตามรางลงภาชนะ นำน้ำอ้อยไปบริโภคหรือทำเป็นน้ำตาลต่อไป

เครื่องหีบอ้อยแบบพูเดือยหรือพูทอย มีรูปแบบและส่วนประกอบต่างๆ คล้ายกับเครื่องหีบอ้อยแบบพูเกลียว ต่างกันเพียงลักษณะ
ของพูเท่านั้น เครื่องหีบอ้อยแบบพูทอยจะใช้ไม้สี่เหลี่ยมเป็นเดือยตอกลงไปบนลูกหีบ เว้นช่องว่างระหว่างเดือยแต่ละอัน ให้เดือยขบกัน
ได้พอดี เครื่องหีบอ้อยชนิดนี้มีข้อด้อยที่พูหรือเดือยอาจหักหรือชำรุดเสียหายง่ายกว่าชนิดที่พูเป็นเนื้อเดียวกับไม้ลูกหีบ ซึ่งแข็งแรงใช้
ได้ทนกว่าเพราะเป็นไม้เนื้อเดียวกันแต่ก็ทำยากกว่า

เครื่องหีบอ้อยทั้งสองชนิดมีรูปแบบคล้ายคลึงกันและลักษณะการใช้งานเหมือนกัน คือต้องใช้แรงคนช่วยกันหมุนหรือเทียมด้วยวัวหรือ
ควายให้หมุนลูกหีบ เมื่อหมุนไม้คันชั่ง พูหรือเดือยจะขบกันเหมือนเฟืองแล้วหมุนไปพร้อมๆ กัน หากต้องการหีบอ้อยจะต้องมีคนสอด
ต้นอ้อยเข้าไประหว่างลูกหีบเพื่อให้ลูกหีบรีดน้ำอ้อยให้ไหลออกจากต้นอ้อย อ้อยที่นำมาหีบมักปอกเปลือกออกก่อนเพื่อไม่ให้แข็งเกินไป
จะทำให้ต้องใช้แรงมากและช่วยให้ได้น้ำอ้อยสะอาดไม่มีดินและสิ่งสกปรกเจือปน การหีบอ้อยด้วยเครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านนี้ เป็นงานหนัก
ต้องใช้แรงงานมากเพื่อหมุนเครื่องหีบอ้อย และต้องใช้คนคอยสอดต้นอ้อยและช่วยดึงต้นอ้อยที่เหลือแต่ซังออก หากใช้คนหมุนคันชัก
จะต้องใช้คนหลายคน แต่ถ้าใช้วัวหรือเทียมอาจจะใช้ตัวเดียวหรือสองตัวก็ได้ โดยมีคนบังคับให้เดินวนไปรอบๆ เครื่องหีบอ้อย

เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านแบบโบราณนี้ ปัจจุบันไม่มีใช้แล้ว แต่ยังพบเครื่องหีบอ้อยหรือชิ้นส่วนของเครื่องหีบอ้อยอยู่บ้างในบริเวณจังหวัด
ต่างๆ ในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่างบางจังหวัด ได้แก่ บริเวณจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร เป็นต้น
แสดงว่าในสมัยโบราณพื้นที่เหล่านี้คงปลูกอ้อยเพื่อใช้น้ำอ้อยทำน้ำตาลกันมาก

เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า คนไทยในอดีตได้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับหีบอ้อยขึ้นจากวัสดุพื้นบ้านเท่าที่
หาได้และประดิษฐ์ขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่มีกลไกซับซ้อน แต่ใช้ประโยชน์ได้ดีตามยุคสมัย นอกจากนี้เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านยังเป็นเทคโนโลยี
เป็นเครื่องกลพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยในอดีต ก่อนที่จะมีเครื่องจักรกลจากโลกตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย

เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านแสดงให้เห็นความสามารถของคนไทยในอดีตที่นำความรู้ทางการช่างมาประสานกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้านเป็นเครื่องมือกลพื้นฐานที่สามารถเปลี่ยนพลังงานศักย์มาเป็นพลังงานจลน
โดยใช้หลักการเปลี่ยนพลังงานที่เคลื่อนที่ในแนวหนึ่งให้เป็นพลังงานที่เคลื่อนที่ในอีกแนวหนึ่ง เพื่อนำพลังงานนั้นมาใช้ประโยชน์ตาม
ความต้องการ หลักฐานที่แสดงให้เห็นความรู้ในการปรับเปลี่ยนพลังงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความคิดของชาวบ้านนี้ ยังปรากฏ
ให้เห็นในเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านของไทยในอดีตอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องสีข้าวพื้นบ้าน เครื่องกลึงพื้นบ้าน โม่ ครกกระเดื่อง กังหัน
ลม สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่แสดงให้เห็นความรู้ ความสามารถของคนไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่เสียดายที่เครื่องมือ
เครื่องใช้เหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภูมิความรู้เหล่านี้ขาดการสืบทอดจน
หลายอย่างสูญไปตามกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลก (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, ภูมิปัญญาพื้นบ้านกับการศึกษาปัจจุบัน, วารสารอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ 16 ฉบับที่ 1-2 2536-2537, หน้า 182-195)

เครื่องหีบอ้อยพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำน้ำหวานจากต้นอ้อยมาทำเป็นน้ำตาลที่แตกต่างไปจากการนำน้ำหวานจากต้นตาล
โตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคา เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะการใช้ที่แตกต่างไป แต่ขั้นตอนการนำน้ำอ้อยมาทำน้ำตาลนั้นคล้ายคลึงกับ
การทำน้ำตาลจากน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว และน้ำหวานจากต้นจากและหญ้าคา ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

 

 

 

 

หน้าหลัก > มิตรผลแหล่งรวมความรู้ > สหวิทยาการอ้อย

 

บทที่ 3 เครื่องมือเครื่องใช้และขั้นตอนการทำน้ำตาลพื้นบ้าน

การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านจากน้ำหวานของตาลโตนด มะพร้าว จาก และหญ้าคานั้น ใช้เครื่องมือเครื่องใช้และกรรมวิธีในการทำน้ำตาล
พื้นบ้านที่คล้ายคลึงกัน โดยใช้ความร้อนจากไฟเคี่ยวให้น้ำหวานข้นจนเป็นน้ำตาล เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำน้ำตาลเป็นเครื่องมือพื้นๆ
ที่ชาวบ้านสามารถทำหรือจัดหามาใช้ได้ไม่ยากและมีเครื่องมือเครื่องใช้สำคัญๆ ดังนี้

1. เตาตาล ชาวบ้านมักก่อด้วยอิฐและดินไว้ในบริเวณสวนหรือบริเวณบ้าน โดยปลูกโรงเรือนอย่างง่ายๆ คลุมเตา เพื่อป้องกันแดดและฝน เตาสำหรับเคี่ยวน้ำตาลอาจจะเป็นเตาเคี่ยวที่วางกระทะใบบัวได้เพียงกระทะเดียว หรือเตาใหญ่วางกระทะได้ 2 – 3 ใบ การก่อเตา
มักจะก่อในแนวนอนไปทางยาว วางกระทะเรียงกันจากหน้าเตาไปยังปล่องไฟ เพื่อให้ไฟจากหน้าเตากระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ โดยการไหล
ของอากาศไปยังปล่องไฟ ทำให้กระทะตาลได้รับความร้อนทั่วถึงกัน โดยทั่วไปชาวบ้านมักจะก่อเตาขนาดวางกระทะได้ 2 ใบเป็นอย่างน้อย
เพราะใช้ใบหนึ่งเคี่ยวตาล อีกใบหนึ่งต้มน้ำร้อน สำหรับรวกกระบอกหรือใช้เคี่ยวตาลสลับกัน

เชื้อเพลิงที่ใช้เคี่ยวตาลมักใช้ทางมะพร้าว ก้านตาล ฟืน และขี้เลื่อย แต่ชาวบ้านมักใช้ทางมะพร้าวหรือก้านตาลที่หาได้จากสวนของตน
หรือซื้อได้ในราคาถูก

2. กระทะใบบัว กระทะเหล็กขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเคี่ยวน้ำหวานให้เป็นน้ำตาล

3. เหล็กกระทุ้งตาล ทำด้วยเหล็กขนาดประมาณ 2 หุน ขดเป็นวงซ้อนกันอย่างเหล็กสปริงหรือไม้ตีแป้งหรือไม้ตีไข่ มีด้ามยาว
ประมาณ 2 – 3 ศอก ใช้กระทุ้งหรือตีน้ำตาลที่เคี่ยวจนข้นแล้วให้แห้งและเย็นเป็นน้ำตาลตามต้องการ

4. กระวง, โง, งวง, หรือครอบ ไม้ไผ่สานเป็นทรงกระบอก ขนาดเล็กกว่าความกว้างของปากกระทะ สูงประมาณศอกเศษๆ
ใช้ครอบกระทะขณะที่น้ำตาลเดือดเป็นฟอง ไม่ให้ไหลล้นออกไปนอกกระทะ แต่จะเดือดเป็นฟองเอ่อขึ้นไปถึงขอบปากกระวงหรือล้น
กระวงลงมา เครื่องมือชนิดนี้แสดงให้เห็นความชาญฉลาดของชาวบ้านในการแก้ปัญหาไม่ให้ฟองตาลล้นกระทะได้ดี

นอกจากอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำน้ำตาลสำคัญๆ ดังกล่าวมาแล้ว ชาวบ้านยังมีเครื่องใช้ที่ช่วยในการเคี่ยวน้ำตาลอีกหลายอย่าง แต่บาง
อย่างอาจจะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ กระชอน สำหรับกรองเศษไม้พะยอม ไม้เคี่ยม หรือไม้
ตะเคียน ออกจากน้ำหวานหรือน้ำตาลสดก่อนที่จะเทลงไปเคี่ยวในกระทะ กระบวยหรือกระจ่า สำหรับตักฟองน้ำตาล เนียน หรือเหล็ก
ขูดน้ำตาลออกจากกระทะ เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำน้ำตาล คือ ภาชนะสำหรับใส่น้ำตาล ได้แก่ หม้อตาลโบราณทำด้วย
ดินเผาเป็นหม้อ (ทรงหม้อตาลอย่างหมวกทหารเรือ) เล็กๆ ปีป หรือปี๊บสังกะสีสำหรับใส่น้ำตาลจำหน่าย แต่ถ้าต้องการทำเป็นน้ำตาลปึก
หรือน้ำอ้อยงบก็ต้องเตรียมแม่พิมพ์สำหรับทำน้ำตาลชนิดนั้นๆ

ดังกล่าวแล้ว เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นอุปกรณ์ในการเคี่ยวน้ำหวานหรือน้ำตาลสดให้เป็นน้ำตาล

เมื่อเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมแล้ว จะต้องทำน้ำตาลตามขั้นตอนดังนี้

เทน้ำหวานหรือน้ำตาลสดที่กรองเอาไม้พะยอมหรือไม้เคี่ยมและสิ่งเจือปนออกเสียก่อน เมื่อเทน้ำตาลสดลงในกระทะใบบัวที่ตั้งอยู่บนเตา
แล้ว ก่อไฟอ่อนๆ และเร่งไฟให้แรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลเดือดเป็นฟอง ใช้กระจ่าหรือกระบวยตักฟองทิ้งบ้าง ในขณะที่น้ำตาลเดือดนั้น
ชาวบ้านจะลวกกระบอกโดยตักน้ำหวานที่กำลังเดือดใส่กระบอกตาลเขย่าแล้วเทกลับลงในกระทะ แล้วนำกระบอกตาลไปผึ่งแดดให้แห้ง
เพื่อใช้รองน้ำตาลต่อไป

เมื่อน้ำตาลเดือดมากใช้กระวงครอบลงบนกระทะเพื่อให้น้ำตาลเดือดอยู่ในกระวง ไม่ล้นออกไปนอกกระทะ เคี่ยวต่อไปจนน้ำตาลงวด
ขึ้นปูดแล้วยกกระวงออก ราไฟให้อ่อน และเคี่ยวต่อไปจนน้ำตาลข้นเหนียวเป็นฟองรวมกันอยู่กลางกระทะ แล้วยกกระทะลง ใช้เหล็ก
กระทุ้งตีน้ำตาลต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลงวดและแห้งเป็นน้ำตาลตามต้องการ จากนั้นจึงบรรจุน้ำตาลลงในภาชนะ เช่น หม้อตาลปี๊บ
ทำเป็นน้ำตาลปึก หรือทำเป็นงบ การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านดังกล่าวเป็นการทำน้ำตาลจากวัตถุดิบธรรมชาติอย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันมัก
ใส่น้ำตาลทรายผสมลงไปเพื่อเพิ่มความหวาน และทำให้น้ำตาลแข็งตัว บางแห่งใส่สารเคมีเพื่อช่วยให้น้ำตาลมีสีขาวลงไปด้วย

กรรมวิธีในการทำน้ำตาลในบางท้องถิ่นอาจจะต่างกันไปบ้าง เช่น การทำน้ำตาลโตนดในภาคใต้ที่นิยมทำน้ำตาลแว่น โดยทำเป็นแผ่นกลมๆ
เช่นเดียวกับน้ำตาลงบหรือน้ำอ้อยงบ ซึ่งนิยมทำกันมาแต่โบราณ เช่น ที่บริเวณอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ขั้นตอนการทำน้ำตาลแว่น
เหมือนกับการทำน้ำตาลทั่วไป แต่ชาวบ้านจะเคี่ยวน้ำตาลสดจนเหนียวอย่างน้ำผึ้งแล้วเก็บไว้หรือขายให้กับโรงงานเพื่อทำเป็นน้ำตาลแว่น
โดยไม่ทำเป็นน้ำตาลแว่นทันที

การทำน้ำตาลแว่น ชาวบ้านจะต้องฉีกใบตาลโตนดเป็นริ้วๆ อย่างริบบิ้นแล้วม้วนเป็นวงๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร
สูงประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อเตรียมไว้เป็นแม่พิมพ์ จากนั้นนำน้ำตาลที่เคี่ยวเก็บเทลงในกระทะใส่น้ำมันมะพร้าว 2 – 3 หยด เพื่อ
ไม่ให้เกิดฟองมากเกินไป ใส่ไฟเคี่ยวไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลมีสีเข้มจึงยกกระทะลง ใช้เหล็กกระทุ้งตี หรือ โซมจนน้ำตาลเหนียวและข้น
ตักน้ำตาลหยอดลงในแว่นที่วางเรียงไว้บนแผ่นไม้ ปล่อยทิ้งไว้จนน้ำตาลแห้งและแข็งตัว จึงบรรจุถุงเพื่อเก็บไว้กินหรือจำหน่าย

การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านจากน้ำตาลจากตาลโตนด มะพร้าว อ้อย จาก และหญ้าคา ใช้เครื่องมือเครื่องใช้และมีกรรมวิธีพื้นฐานที่คล้าย
คลึงกันแทบทั้งสิ้น จะต่างกันบ้างที่ความนิยมของแต่ละถิ่นที่สืบทอดต่อๆ กันมา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันการทำน้ำตาลแบบพื้นบ้าน
เฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากมะพร้าวที่สำคัญมาแต่โบราณนั้นลดจำนวนลงไปมาก
เช่นเดียวกับบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากตาลโตนดที่สำคัญก็แทบจะไม่มีการผลิตแล้ว

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเครื่องใช้และกรรมวิธีในการทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านดังกล่าวแล้ว เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบต่อกันมาจากอดีต
จนปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้คนไทยมีอาหารที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกหมู่มานาน ก่อนที่จะมีการผลิตตามกระบวนการอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้
เป็นรากฐานของชีวิตและสังคมไทยที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง