Custom Search

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประวัติโขน และ กำเนิดโขน

ประวัติโขน และ กำเนิดโขน

โขน คืออะไร
โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่ง ของไทย มีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในชั้นเดิมปรับปรุงจาก การเล่น ๓ ประเภท คือ หนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และกระบี่ กระบอง ได้แก้ไขปรับปรุง ให้ประณีต ตามลำดับ แต่เดิมนั้นผู้แสดงโขนจะต้องสวมหัวโขน เปิดหน้าทั้งหมด จึงต้องมีผู้พูดแทนเรียกว่าผู้พากย์ - เจรจา ต่อมาได้ปรับปรุง ให้ผู้แสดง ซึ่งเป็นตัวเทพบุตร เทพธิดา และมนุษย์ชาย หญิง สวมแต่เครื่อง ประดับศีรษะไม่ต้อง เปิดหน้าทั้งหมด เครื่องประดับศีรษะ ได้แก่ ชฎา มงกุฎ รัดเกล้า กระบังหน้า ซึ่งมี ศัพท์ เรียกว่า "ศิราภรณ์" แต่ผู้แสดงโขนที่สวมศิราภรณ์เหล่านี้ ก็ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ คือ ไม่พูดเอง ต้องมีผู้พากย์ - เจรจาแทน เว้นแต่ผู้แสดง เป็นตัวตลก และฤาษีบางองค์ จึงจะเจรจาเอง ถือเป็นเอกลักษณ์ อย่างหนึ่งของผู้แสดงโขนที่เป็นตัวตลก

เรื่องที่ใช้ แสดงโขน ในปัจจุบันนี้ นิยมเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งไทย ได้เค้าเรื่องเดิม มาจากเรื่องรามายณะ ของอินเดีย มีอยู่หลายตอนที่ เรื่องรามเกียรติ์ ดำเนินความ แตกต่างจาก เรื่องรามายณะมาก โดยเหตุที่ เรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องยาว ไม่สามารถ แสดงให้จบในวันเดียวได้ บูรพาจารย์ ทางด้านการแสดงโขน จึงแบ่งเรื่องราวที่จะแสดงออกเป็นตอน ๆ มีศัพท์เรียก โดยเฉพาะว่า "ชุด" การที่เรียกการแสดงโขนแต่ละตอนว่าชุดนั้น เรียกตามแบบหนังใหญ่ คือเขาจัดตัวหนังไว้เป็นชุด ๆ จะแสดงชุดไหนก็หยิบตัวหนังชุดนั้นมาแสดง

ที่กล่าวว่าโขน ปรับปรุงมาจาก การเล่นหนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และการเล่น กระบี่กระบองนั้น ท่านผู้รู้อธิบายว่า แต่เดิมการเล่นหนังใหญ่ เป็นมหรสพขึ้นชื่อลือชา มีมาตั้งแต่ ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ บุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่งขึ้นในราว พ.ศ. ๒๒๙๔ - ๒๓๐๑ เป็นระยะเวลา ๗ ปี ปลายรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงมหรสพ ที่แสดงฉลองพระพุทธบาท ในตอนกลางคืนว่า มีการละเล่นหนังใหญ่อยู่ด้วย การละเล่น หนังใหญ่นั้น เขานำแผ่นหนังวัว (บางท่านก็ว่ามีหนังควายด้วย) มาฉลุสลัก เป็นรูปตัวยักษ์ ลิง พระ นาง ตามเรื่อง รามเกียรติ์ การเล่นหนังใหญ่ นอกจากจะมีตังหนังแล้ว ยังต้องมีคนเชิดหนัง คนเชิดหนัง คือคนที่นำตัวหนัง ออกมาเชิด และยกขาเต้นเป็นจังหวะ นอกจากนี้ ยังต้องมีผู้พากย์ - เจรจา ทำหน้าที่ พูดแทนตัวหนัง และมีวงปี่พาทย์ ประกอบการแสดงด้วย สำหรับสถานที่ แสดงหนังใหญ่ นิยมแสดงบน สนามหญ้าหรือบนพื้นดิน มีจอผ้าขาว ราว ๆ ๑๖ เมตร ขึงโดยมีไม้ไผ่ หรือไม้กลม ๆ ปักเป็นเสา ๔ เสา รอบ ๆ จอผ้าขาว ขลิบริมด้วยผ้าแดง ด้านหลังจอจุดไต้ ให้มีแสงสว่าง เพื่อเวลา ที่ผู้เชิดหนัง เอาตัวหนัง ทาบจอทางด้านใน ผู้ชมจะได้แลเห็นลวดลาย ของตัวหนังได้ชัดเจนสวยงาม เมื่อแสดงหนังใหญ่นาน ๆ เข้า ทั้งผู้ชมและผู้เชิดหนัง ก็คงจะเกิดความเบื่อหน่ายผู้ชม คงจะเบื่อที่ตัวหนังใหญ่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ไม่ได้ฉลุสลัก เป็นรูปร่างอย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ส่วนผู้เชิดหนัง ก็อาจจะเบื่อหน่าย ที่จะนำตัวหนัง ออก ไปเชิด เนื่องจาก ตัวหนังบางตัว มีน้ำหนักมาก การที่ต้อง จับยกขึ้น เชิดชูอยู่เป็น เวลานาน ๆ ก็ทำให้ เมื่อยแขน ตัวหนังที่มีน้ำหนักมาก ๆ บางตัวมีขนาดใหญ่ และสูงขึ้นถึง ๒ เมตร เช่น หนังเมือง หรือหนัง ปราสาท จึงคิดจะออกไปแสดงแทน ตัวหนังใหญ่ แต่ก็ยังหา เครื่องแต่งกายให้ เหมาะสม กับตัวละครใน เรื่องรามเกียรติ์ ที่แบ่งเป็น พระ นาง ยักษ์ และลิง ไม่ได้ บังเอิญในเวลานั้น มีการเล่นใน พระราชพิธี อินทราภิเษกอยู่อย่างหนึ่ง คือ การเล่นชักนาค ดึกดำบรรพ์ การเล่นแบบ นี้ผู้เล่นแต่งกาย เป็นยักษ์ ลิง เทวดา มีพาลี และสุครีพ เป็นตัวเอก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธี อินทราภิเษกนี้ ท่านผู้รู้ สันนิษฐานว่า บางทีพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยโบราณ อาจจะได้แบบอย่าง มาจากขอม แม้จะ ไม่มีตำนาน กล่าวไว้โดยชัดเจน แต่ก็ปรากฏว่า มีพนักสะพานทั้งสองข้าง ที่ทอดข้ามคู เข้าสู่นครธม ทำเป็นรูปพญานาค ตัวใหญ่มี ๗ เศียร ข้างละตัว มีเทวดา อยู่ฟากหนึ่ง อสูรอยู่ฟากหนึ่ง กำลังทำท่าฉุด พญานาค และที่ในนครวัด ก็จำหลักรูปชัดนาค ทำน้ำอมฤตไว้ที่ผนัง ระเบียง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้รู้สันนิษฐานว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกของไทย น่าจะได้แบบอย่าง มาจากขอม การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก จะสร้างภูเขา จำลองขึ้น แล้วทำเป็นตัวพญานาค พันรอบ ภูเขาจำลอง ให้พวกทหาร ตำรวจมหาดเล็ก เด็กชาย แต่งกายเป็นยักษ์ เทวดา และลิง ทำท่าฉุดพญานาค โดยพวกยักษ์ ฉุดด้านเศียรพญานาค เทวดา อยู่ทางด้านหาง และพวกลิงอยู่ทางปลายหาง ผู้ที่คิด จะออกไปแสดงแทนตัวหนังใหญ่ จึงเอาเครื่อง แต่งกายของ ผู้ที่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์มาแต่ง และเครื่องแต่งกาย ก็วิวัฒนาการ ตามลำดับจนกระทั่ง ถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือที่เรียกกัน ต่อมาว่าหัวโขน ที่ทำเป็นหน้ายักษ์ ลิง เทวดา และมนุษย์ผู้ชายนั้น ในสมัยที่ได้แบบอย่าง เครื่องแต่งตัว มาจากการเล่นชักนาคดึกบรรพ์ คงจะไม่ใช่ เป็นแบบหัวโขน ที่สวมปิดหน้าทั้งหมด เช่นในปัจจุบันนี้ ในสมัยนั้น คงจะเป็นแบบหน้ากากสวมปิดเพียง ใบหน้า ให้เห็นเป็นรูปยักษ์ ลิง หรือเทวดามากกว่า ส่วนศีรษะก็คงจะสวม เครื่องสวมหัว แบบเดียวกัน ทุกคน บางท่านสันนิษฐานว่า อาจจะสวมลอมพอก แบบผู้ที่แต่งกายเป็นเทวดา เข้ากระบวนแห่ก็เป็นได้ ครั้นต่อมา จึงปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำเป็นหัวโขนครอบทั้งศีรษะ เช่นในปัจจุบันนี้ และเข้าใจว่าหัวโขน ที่สวมครอบทั้งศีรษะ คงจะมีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี หรือไม่ก็ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อมี เครื่องแต่งกายแล้ว ก็นำเอาลีลาท่าทาง การเต้นยกขาขึ้นลง ตามแบบ ท่าเชิดหนังใหญ่ มาเป็นท่าเต้น ของการแสดง ที่คิดขึ้นใหม่ และนำเรื่องรามเกียรติ์ ที่เคยแสดงหนังใหญ่ มาเป็น เรื่องสำหรับแสดง โดยมีการพากย์ เจรจาตามแบบ ที่เคยแสดงหนังใหญ่ นอกจาก ท่าเต้นแล้ว ยังจะต้องมีท่ารำอีกด้วย ในสมัยโบราณ คนไทยเรา เคยเห็นการเล่น กระบี่กระบองมา จนชินตา การเล่นกระบี่กระบองนั้น ก่อนที่คู่ต่อสู้ จะทำการต่อสู้กันอย่างจริงจัง จะต้องรำไหว้ครูด้วยลีลาท่ารำ ตามแบบแม่ท่าเสียก่อน ผู้ที่คิดจะใช้คน ออกไปแสดงแทน ตัวหนังใหญ่ จึงนำเอาท่ารำ ของกระบี่ กระบองมา เป็นท่ารำของตน โดยประดิษฐ์และดัดแปลงขึ้นใหม่บ้าง เช่น ท่าเทพนม ท่าปฐม เป็นต้น นอกจากลีลาท่ารำแล้ว ยังเอาท่าทางและ การต่อสู้กัน ของกระบี่กระบอง มาเป็นท่าทางในการรบกัน ของการแสดงชนิดใหม่นี้ด้วย

การแสดงที่ปรับปรุงมาจาก การเล่นทั้ง ๓ ประเภท ดังกล่าวมานี้ ต่อมาได้ชื่อว่า "โขน" เป็นชื่อที่ปรากฏ ในหนังสือ ของชาวต่างชาติ กล่าวถึงศิลปะการแสดงของไทย ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เหตุใด จึงเรียกนาฏกรรม ที่ปรับปรุงจากการเล่นหนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และกระบี่กระบอง ว่าโขน ยังไม่มีผู้ใด พบหลักฐาน ความเป็นมา อย่างแน่นอน แต่มีอยู่ท่านหนึ่ง คือ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนไว้ในหนังสือโขน พิมพ์เผยแพร่มาแล้วหลายครั้ง อธิบายถึงคำว่า"โขน" ไว้ดังนี้

"เป็นอันว่า เราได้พบคำว่า"โขล" ของเบงคาลี , โกล หรือ โกลัม ของทมิฬ และ "โขน" ของอิหร่าน อันมี ความหมาย คล้ายคำว่า "โขน" ซึ่งเป็นนาฏกรรม ของเราในบัดนี้ อย่างน้อยก็ มีความหมาย เป็น ๓ ทาง คือ

๑. จากคำว่า"โขล" ของเบงคาลี ว่าเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ขึงด้วยหนังและใช้ตีรูปร่างเหมือนตะโพน

๒. จากคำว่า"โกล" หรือ โกลัม ของทมิฬ หมายถึง การตกแต่ง ประดับประดาร่างกาย แสดงตัว ให้หมายรู้ถึงเพศ

๓. จากคำว่า"ควาน" หรือ "โขน" ของอิหร่าน ว่า หมายถึงผู้อ่าน หรือขับร้องแทนตัวตุ๊กตาหรือหุ่น

ถ้าที่มาของโขน อันเป็นมหานาฏกรรมของเรา จะสืบเนื่องมาจากคำ ในภาษาเบงคาลี ภาษาทมิฬและ ภาษาอิหร่านทั้งสามนั้น ก็ดูจะมีความหมายใกล้เคียง กับรูปศัพท์อยู่บ้าง แม้จะคงยังขาด ความหมาย ถึงผู้เต้น ผู้รำ แต่โขนจะมาจากคำในภาษาเบงคาลี หรือทมิฬหรืออิหร่านก็ตาม ตามหลักฐาน ที่นำมา เสนอไว้นี้ แสดงว่าแต่เดิมก็มาจากอินเดียด้วยกัน เพราะแม้ที่ว่าเป็นคำอิหร่าน ท่านอนันทกุมารสวามี ก็ว่ามีกำเนิดหรืออิทธิพลของอินเดีย "

ศิลปะการแสดงโขน ในชั้นแรก คงจะแสดงกันกลางสนามกว้าง ๆ เช่นเดียวกับ การเล่นชักนาค ดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก และต่อมาก็มีการปลูกโรงให้แสดง จนกระทั่งมีฉาก ประกอบตามท้องเรื่อง โดยมีวิวัฒนาการมาตามลำดับดังนี้



โขนกลางแปลง

คือ การแสดงโขน บนพื้นดินกลางสนามหญ้า ไม่ต้องปลูกโรงให้เล่น ปัจจุบันหาดูได้ยาก กรมศิลปากร เคยจัดแสดง โขนกลางแปลง ณ พระราชอุทยาน รัชกาลที่ ๒ จังหวัดสมุทรสงคราม ในโอกาสพิเศษ วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การแสดง โขนกลางแปลงนี้ ในสมัย กรุงศรีอยุธยาคงจะมีหลายครั้ง เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะเริ่มเกิดมีการแสดงโขน และโขน กลางแปลง ก็คงจะเป็น แบบแรกที่คิดขึ้น ก.ศ.ร. กุหลาบกล่าวไว้ว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการแสดง โขนกลางแปลง ๒ ครั้ง ครั้งแรกแสดงในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ฉลองพระชนมายุครบ ๒๓ พรรษา ในปีวอก จุลศักราช ๘๓๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๒๙ เป็นพระราชพิธีสะเดาะพระเคราะห์ มีมหรสพจับตอน หิรันต์ยักษ์ม้วนแผ่นดิน การแสดงในครั้งนั้น จะแสดงในรูปแบบของละครหรือโขน ก็ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ถ้าเป็นการแสดงโขน ก็น่าจะเป็นโขนกลางแปลง อีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้มี โขนกลางแปลง ทำขวัญ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เนื่องจาก เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ถูกหลวงสรศักดิ์ชกปาก ถึงกับฟันหัก ๒ ซี่ ครั้นถึง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ๒๓๓๙ โปรดให้มีการแสดง โขนกลางแปลง ในงานฉลอง พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช ดังกล่าวใน พระราชพงศาวดารว่า

"ในการมหรสพสมโภช พระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักลอกโรงใหญ่ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า และประสม โรงเล่นกันกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ ยกทัพกลับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลวง เป็นทัพ พระรามยกไป แต่ทาง พระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้า เป็นทัพทศกัณฐ์ ยกออกจาก พระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกัน ในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบ่าเหรี่ยมรางเกวียนลาก ออกมายิงกันดังสนั่นไป"

โขนกลางแปลง นิยมแสดงแต่การยกทัพ และรบกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะสนามกว้าง เหมาะที่จะ แสดงชุด ที่มีตัวมากๆ เช่นกองทัพยักษ์ และกองทัพวานร ออกมารบกัน ปี่พาทย์ ที่บรรเลง ประกอบ การแสดงโขน ชนิดนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเพียงวง ที่เรียกว่า เครื่องห้า ประกอบด้วย ปี่กลาง ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองพัด และฉิ่ง กลองทัด ที่ใช้ตีประกอบ การแสดงโขน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเพียงลูกเดียว เพิ่งจะมา เพิ่มเป็น ๒ ลูก ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง วงปี่พาทย์ ที่บรรเลง ประกอบ การแสดงโขนกลางแปลง จะต้องมี ๒ วงเป็นอย่างน้อย ปลูกเป็นร้านยกขึ้นเป็นที่ตั้งวงปี่พาทย์อยู่ใกล้ทาง ฝ่ายยักษ์วงหนึ่ง ทางฝ่ายมนุษย์วงหนึ่ง การที่ต้องปลูกเป็นร้านยกขึ้นให้สูงกว่า พื้นดินนั้น เพื่อให้ผู้บรรเลง ปี่พาทย์ ได้แลเห็นตัวโขนในระยะไกล และเนื่องจากบริเวณที่ใช้แสดงกว้างใหญ่มาก การใช้ปี่พาทย์เพียง วงเดียว เสียงที่บรรเลง ก็คงจะได้ยิน ไม่ทั่วถึงกัน ทั้งบริเวณและ มีทางเป็นไปได้ว่า วงปี่พาทย์ ที่บรรเลง ประกอบการแสดง โขนกลางแปลง ในสมัยอดีต น่าจะต้องมี มากกว่า ๒ วง เมื่อตัวโขนแสดงไปใกล้วงใด วงนั้น ก็บรรเลง แต่ในปัจจุบันนี้ การแสดงโขนกลางแปลง ไม่จำเป็น ต้องมีวงปี่พาทย์ หลายวงอีกแล้ว เพราะสามารถใช้เครื่องขยายเสียง ให้ดังไปทั่วสนามได้ การดำเนินเรื่อง ใช้การพากย์เจรจา ไม่มีขับร้อง แต่ในสมัยปัจจุบัน กรมศิลปากรปรับปรุง การแสดง โขนกลางแปลงเสียใหม่ โดยนำเอาศิลปะการแสดง โขน แบบโขนโรงใน และโขนหน้าจอ คือมีการจับระบำรำฟ้อน และมีเพลงร้องเข้าประกอบด้วย มาแสดง กลางสนาม ตามแบบอย่างของการแสดงโขนกลางแปลง



โขนนั่งราวหรือโขนโรงนอก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบาย เกี่ยวกับโขนนั่งราวว่า "ในงาน มหรสพหลวง อย่างที่เคยมี ในงานพระเมรุ หรืองานฉลองวัด เป็นต้น คือ ที่เรียกตาม ปากตลาดว่า โขนนั่งราว" โขนนั่งราวนี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โขนโรงนอก เป็นการแสดงโขนที่ วิวัฒนาการมาจาก โขนกลางแปลง ซึ่งแสดงบนพื้นดินกลางสนามหญ้า มีต้นไม้และใบไม้ เป็นฉากธรรมชาติ เมื่อการ แสดงโขนกลางแปลง วิวัฒนาการมาเป็นโขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก ก็มีการปลูก โรงให้เล่นเป็นแบบ เวทียกพื้น มีความกว้างยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคากันแดด กันฝนด้วย ตรงด้านหลังของเวที ระหว่างที่พักผู้แสดง กับเวทีแสดงจะมีฉากกั้น ฉากกั้นนี้ทำเป็น ภาพนูน ๆ รูปภูเขาสองข้าง เจาะช่อง ทำเป็นประตูเข้าออก ของตัวโขน (ในปัจจุบันนี้เวลา จะสาธิต การแสดงโขนนั่งราว มักจะใช้จอผ้าขาว โปร่ง ขึงแทน ซึ่งเป็นลักษณะของจอโขนหน้าจอ) สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนเรียก การแสดงโขน ชนิดนี้ว่า โขนนั่งราวก็คือ "ราว" ตรงหน้าฉากห่าง ออกมาประมาณ ๑ วา จะมีราวไม้กระบอก พาดตาม ส่วนยาวของโรง ตั้งแต่ขอบประตูด้านหนึ่ง จรดขอบประตูอีกด้านหนึ่ง ตัวโขนที่เป็น ตัวเอกของเรื่อง จะนั่งบนราวไม้กระบอกนี้ แทนการนั่งเตียง เพราะโขนนั่งราว ไม่มีเตียงตั้ง เกี่ยวกับเรื่องเตียงนี้ ครูอาคม สายาคม เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า โขนนั่งราว ก็มีเตียงตั้งเหมือนกัน สำหรับ ให้ตัวนางนั่ง แต่ท่านผู้รู้ ก็แย้งว่า โขนนั่งราวไม่มีตัวนาง เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องมีเตียง ให้ตัวนางนั่ง ผู้เขียนเคยอ่านพบ เกี่ยวเรื่องการแสดงโขน ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่จัดแสดงโขน แบบโขนหน้าจอผสม กับโขนนั่งราว จึงมีทั้ง ราวไม้กระบอกและเตียง สำหรับนั่งด้วยกัน ครูอาคม ก็รวมแสดงโขน ในครั้ง คงเป็นเหตุให้ ครูอาคม จดจำนำมาเล่า ให้ผู้เขียนฟังว่า โขนนั่งราวมีเตียงด้วย ส่วนการที่ท่านผู้รู้ อ้างว่า โขนนั่งราวไม่มีตัวนาง ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะโขนนั่งราว จะต้องแสดงตอน พระรามเข้าสวนพิราพ เป็นประจำทุกครั้ง ในตอนบ่าย ก่อนวันแสดง ๑ วัน การแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ เป็นตอน ที่พระราม นางสีดา และพระลักษณ์ ในเพศดาบสออกเดินป่า แล้วหลงเข้าไปในสวน ของพิราพอสูร ดังนั้นการแสดงในตอนนี้ จึงต้องมีตัวนาง คือนางสีดา อย่าแน่นอน

ส่วนราวไม้กระบอก ที่พาดอยู่หน้าจอโขนนั่งราวนี้ จะต้องทำขาหยั่งสูง ประมาณ ครึ่งเมตร ตั้งรับไม้ กระบอก เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ไม้กระบอก ทรงตัวอยู่ และสามารถ รับน้ำหนักตัวโขน ที่นั่งลงไปได้ ถึงกระนั้นเวลา ตัวโขนหลาย ๆ คนนั่งลงไปบน ราวไม้กระบอกในเวลาเดียวกัน ไม้กระบอกก็ส่งเสียง ดังลั่นออดแอด ๆ ได้ยินไปถึงผู้ชม เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของโขนนั่งราว ก็คือ ผู้แสดงโขน ทุกคน จะต้องสวมหัวโขน ปิดหน้าทั้งหมด แม้แต่ตัวพระราม พระลักษณ์ ยกเว้นแต่ ตัวนางเท่านั้น

การแสดงโขนนั่งราว ก็ต้องมีปี่พาทย์ บรรเลงประกอบ เช่นเดียวกับ การแสดงโขน ประเภทอื่น ๆ เนื่องจากโขนนั่งราว วิวัฒนาการมาจากโขนกลางแปลง การดำเนินเรื่องจึงใช้พากย์เจรจา ไม่มีขับร้อง ดังนั้นปี่พาทย์ ที่ประกอบการแสดงโขนนั่งราว จึงบรรเลงแต่เพลงหน้าพาทย์ ไม่ต้องรับร้อง ทำนองเพลง วงปี่พาทย ์จะต้องมี ๒ วง โดยการปลูกร้านยกขึ้น ให้สูงกว่าเวทีโขน เพื่อให้ผู้บรรเลง สามารถแลเห็น ตัวโขนได้โดยสะดวก วงปี่พาทย์ทั้ง ๒ วง นี้ แยกกันตั้งอยู่บน ร้านทางขวาวงหนึ่ง ทางซ้ายวงหนึ่ง เรียกว่า วงหัว วงท้ายหรือวงซ้าย วงขวา ปี่พาทย์ทั้ง ๒ วง จะต้องผลัดกันบรรเลง วงละเพลงสลับกันไป ตั้งแต่เริ่ม โหมโรงจนจบการแสดง เครื่องประกอบจังหวะของการแสดงโขนที่ขาดเสียไม่ได้คือ"โกร่ง" โกร่งทำด้วย ไม้กระบอกลำโต ๆ ยาวราว ๆ ๑ เมตรครึ่งเจาะรู เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เสียงโปร่ง ไม้กระบอกนี้ ตั้งอยู่บน ขาหยั่งเตี้ย ๆ เวลาใช้ไม้กรับ ตีไปบนไม้กระบอกแล้ว ไม้กระบอก จะได้ไม่เคลื่อนที่ การตีโกร่ง ทำให้ เกิดเสียงเป็นจังหวะ ที่หนักแน่นเร้าใจ ทั้งผู้เล่นทั้งผู้ชม ผู้แสดงโขนบางคน เคยเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ ออกไปเต้น ตอนตรวจพลนั้น พอได้ยินเสียงโกร่งตีให้จังหวะแล้ว ทำให้เต้นได้อย่าง ไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อย น่าเสียดาย ที่การแสดงโขนในสมัยนี้ ออกจะปล่อยปละละเลย ไม่ค่อยนำโกร่ง มาตี ประกอบกันเสียแล้ว

โขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก ยังมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า โขนนอนโรง เหตุที่เรียกว่า โขนนอนโรง ก็เพราะว่า ตามประเพณีการแสดงโขนนั่งราวนี้ ในตอนบ่าย ก่อนจะถึงวันแสดง ๑ วัน ปี่พาทย์ทั้ง ๒ วง จะโหมโรง และในระหว่างที่โหมโรงนั้น เมื่อบรรเลงมาถึงเพลงกราว ในผู้แสดงโขนที่เป็นตัวรากษส (บริวารของพิราพ) จะออกมากระทุ้งเส้า (พลองยาว ๆ) ตามจังหวะกลองที่ตามโรง พอจบเพลงโหมโรง ก็จะปล่อยตัวแสดง ซึ่งเป็นการแสดงโขน ตอนพิราพเที่ยวป่า จนถึงพระราม นางสีดา และพระลักษณ์ หลงเข้าไปในสวนพวาทองของพิราพ แล้วก็เลิกแสดง ผู้แสดงโขนทุกคน ต้องนอนเฝ้าโรงโขนคืนหนึ่ง (นี่เองที่เป็นเหตุ ให้โขนนั่งราวต้องมีหลังคากันแดดกันฝน) วันรุ่งขึ้นจึงแสดงโขน ตามชุดที่ได้กำหนด ไว้ต่อไป การที่ผู้แสดงโขนต้องนอนเฝ้าโรงโขนตลอดคืน จึงเป็นเหตุให้ มีผู้เรียกการแสดงโขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก เพิ่มขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งว่า โขนนอนโรง



โขนหน้าจอ

ในช่วงระยะเวลา ที่เป็นลักษณะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง การแสดงหนังใหญ่ จะเปลี่ยนมาแสดงโขนนั้นได้ มีการแสดง"หนังติดตัวโขน" เกิดขึ้น เป็นการแสดงโขน แทรกเข้าไป ในการแสดง หนังใหญ่ เป็นบาง ตอน เลือกเอาเฉพาะ ตอนที่สำคัญ ๆ เพื่อการแสดงลีลา กระบวนรำที่สวยงาม เช่น ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน เมื่อแสดงหนังใหญ่มาถึงตอนทศกัณฐ์ จะไปหานางสีดาที่อุทยาน ก็ปล่อยตัว โขน คือ ทศกัณฐ์ออกมารำ เพลงฉุยฉาย จนไปพบและเกี้ยวนางสีดา นางสีดาไม่สนใจใยดีกลับแช่งด่า ทำให้ ทศกัณฐโกรธ เสด็จออก จากตำหนัก ของนางสีดา ต่อจากนี้ไป ก็จะแสดงเป็นแบบหนังใหญ่ ตามเดิม เมื่อนำโขน มาแสดง แทรก บ่อย ๆ เข้า ในที่สุดก็เลยเลิกหนังใหญ่แสดง แต่โขนอย่างเดียว การแสดงโขน ที่มา แทนหนังใหญ่ ก็ยัง คงแสดงอยู่บนพื้นดิน หน้าจอหนังใหญ่ตามเดิม ต่อมาจึงมีการปลูกโรงยกพื้นสูง ระดับสายตาผู้ชม และขึง จอผ้าขาว แบบจอหนังใหญ่ แต่แก้ไขให้ มีประตูเข้าออก ๒ ข้าง ทั้งด้ายซ้าย และด้านขวา ต่อจากขอบ ประตูออกมาทางด้านขวาของเวที เขียนเป็นรูปพลับพลาพระราม ทางด้าน ซ้ายของเวทีเขียนเป็น รูปปราสาทราชวัง สมมติเป็นกรุงลงกา หรือเมืองยักษ์ การแสดงโขนแบบนี้ เรียกว่า โขนหน้าจอ ดำเนินเรื่อง โดยการพากย์ และเจรจา ผู้แสดงเป็นตัวเทวดา และตัวพระ เช่น พระราม และพระลักษณ์ สวมเครื่องประดับ ศีรษะที่เรียกว่าชฎา ไม่ต้องสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด วงปี่พาทย์ประกอบ การแสดง มีเพียงวงเดียว แต่เดิม ตั้งอยู่บนเวที ที่ต่ำกว่าเวทีโขน ทางด้านหน้า โรงโขน ผู้บรรเลงหันหน้า เข้าหา ตัวแสดง ต่อมาภายหลัง กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ วงปี่พาทย์ มาตั้งอยู่ทาง ด้านหลังจอ ผู้บรรเลง หันหน้าออกมาทาง หน้าโรงการที่เปลี่ยนให้วงปี่พาทย์ มาตั้งอยู่ทางด้านหลังจอนี้ มีประโยชน์ หลายประการ เช่น นักดนตรี ที่นั่งบรรเลงอยู่ ไม่บังสายตาคนดู การติดต่อระหว่าง ผู้กำกับการแสดงและ ผู้บรรเลงปี่พาทย์ ก็สะดวก สบายขึ้น



โขนโรงใน

ในเวลาที่มีการแสดง โขนหน้าจอนั้น ในพระราชวัง ก็มีการแสดงละคร ในอยู่ก่อน แล้ว เมื่อราษฎร สามารถแสดง ละครในได้ โขนจึงรับเอา ศิลปะการแสดง แบบละครในเข้ามา แสดงในโขนด้วย เช่น นำการขับร้อง เพลง ตามแบบละครมาขับร้อง แทรกไปกับการพากย์เจรจา นอกจากนี้ ยังมีการแสดง แบบจับระบำ รำฟ้อน เช่นเดียวกับ ละครใน เมื่อโขนหน้าจอ รับเอาศิลปะ การแสดงแบบละครใน เข้ามาผสมด้วย เช่นนี้ จึงเรียกว่า โขนโรงใน ส่วนโขนนั่งราว ที่มีมาแต่เดิม ก็กำหนดชื่อใหม่ว่า โขนโรงนอก

โขนโรงใน คงจะมีมาตั้งแต่ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามหลักฐาน เท่าที่ค้นพบปรากฏว่า ในสมัย กรุงธนบุรี มีการแสดงโขนโรงใน แสดงว่าโขนโรงใน จะต้องมีสืบเนื่อง มาจาก สมัยกรุงศรีอยุธยา มิใช่ เป็นโขนที่เกิดขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงธนบุรีอย่างแน่นอน

โขนโรงใน ตามแบบแผนการแสดงที่แท้จริง จะต้องมีโรงสำหรับแสดง และมีฉากหลังเป็นม่านอย่าง ละครใน การแสดงมีพากย์ เจรจาอย่างโขน และมีการขับร้องอย่างละครใน มีเตียงสำหรับ ตัวแสดง นั่งอย่างละครใน เวลาร้องเพลง และปี่พาทย์บรรเลงรับ จะต้องตีกรับเป็นจังหวะอย่างละครในถึงแม้ เพลงร้อง ที่ไม่ต้องใช้ปี่พาทย์รับ เช่น เพลงร่าย ก็ต้องตีกรับเป็นจังหวะด้วย

ปี่พาทย์ที่เคยบรรเลง ประกอบการแสดงโขนหน้าจอ ใช้ปี่กลางที่มีเสียงสูง เมื่อเกิดมีการแสดงโขน โรงในขึ้น ต้นเสียง และลูกคู่ จะต้องร้องเพลง อย่างละครใน การบรรเลงทางกลาง มีเสียงสูงเกินไป ไม่สะดวก แก่การขับร้อง จึงต้องลดเสียงบรรเลง มาเป็นทางใน อย่างละครใน ปี่กลางก็ เปลี่ยนมาเป็น ปี่ใน ตามเสียงที่ลดลงมา วงปี่พาทย์ที่บรรเลง ประกอบการแสดงโขนโรงใน ตั้งแต ่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ เป็นวงปี่พาทย์ เครื่องห้า และในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น วงปี่พาทย์ ก็เพิ่มเติมเครื่องดนตรี ขึ้นเป็นวงเครื่องคู่ ครั้นมาถึง รัชกาล ที่ ๔ วงปี่พาทย์ ก็วิวัฒนาการขึ้น เป็นวงเครื่องใหญ่ ประเพณีการใช้ ปี่พาทย์บรรเลง ก็ยังคง มีอยู่ ๒ วง ตามแบบการแสดงโขนนั่งราว แต่มิได้ยกร้านที่ตั้ง วงปี่พาทย์ ให้สูงขึ้นเหมือนโขนนั่ง ราวคงตั้ง อยู่กับพื้นเสมอ กับที่แสดง ส่วนการผลัดกันบรรเลง ก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ต่อมาในระยะหลัง วงปี่พาทย์ จึงลดลงมา เหลือเพียงวงเดียว แต่จะเป็นวงปี่พาทย์ชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับฐานะของงาน ถ้าเป็นการแสดง ในโรงก็ใช้ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ หากเป็นการแสดงแบบหน้าจอ ซึ่งการแสดงโขนหน้าจอ ในปัจจุบัน ก็นำเอาศิลปะ การแสดง ของโขนไปแสดง ก็จะใช้วงปี่พาทย์เครื่องคู่

สำหรับบทพากย์เจรจา ที่ใช้ในการแสดงโขนโรงในนั้น คนพากย์จะด้นเอาเองบ้าง ท่องจำจาก บทพากย์ และบทเจรจา กระทู้ของเก่าบ้าง ส่วนบทร้องนั้น คนพากย์ จะจดจำนำมาจากบทพระราชนิพนธ์ ในรัชกาล ที่ ๑ บ้าง รัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๖ บ้าง เมื่อถึงตอนที่ จะต้องมีการ ร้องเพลงประกอบ คนพากย์ก็จะ บอกบทด้วยเสียงดัง ๆ เพื่อให้นักร้อง ๆ ตามบทที่บอก และให้ตัวโขนได้ยินบทที่นักร้อง จะร้องให้รำด้วย จะได้คิดท่ารำ ตามบทร้องได้อย่างถูกต้อง ในปัจจุบันนี้ บางครั้งการแสดงโขน หน้าจอแบบโขนโรงใน มีบทสำหรับ ประกอบการการแสดงพร้อม คนพากย์เจรจาจะพากย์ และเจรจาไปตามบทที่แต่งไว้เวลา นักร้องจะขับร้อง ก็ไม่ต้องบอกบทเหมือนในสมัยก่อน

โขนฉาก

การแสดงโขนโรงใน ที่มีโรงสำหรับการแสดง และมีม่านกั้น ทางด้านหลัง อย่างละครใน เป็นโขนที่ได้ รับความนิยม จากผู้ชมมาก เพราะได้ชมทั้งศิลปะ การเต้นอย่างโขน และชมกระบวน การรำฟังเพลง ร้องอย่างละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โขนโรงใน จึงวิวัฒนาการ มาเป็นโขนฉาก โดยมี ผู้คิด สร้างฉากประกอบ การแสดงโขนบทเวที เช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์ ผู้ให้กำเนิด โขนฉากเข้าใจว่า จะเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงให้กำเนิดละครดึกดำบรรพ์

ศิลปะการแสดงโขนฉาก เช่นเดียวกับโขนโรงในทุกประการ แต่โขนฉากจะต้องมีบท สำหรับแสดงที่ แต่งขึ้นไว้ โดยตัดตอน ให้เรื่องกระชับขึ้น เพื่อให้พอเหมาะ กับฉากที่สร้าง ประกอบ การแสดงตาม ท้องเรื่อง นักพากย์เจรจา และนักร้อง จะพากย์และ ขับร้องตามบท ในสมัยที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร จัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร (ไฟไหม้แล้ว) ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในสมัยก่อน ตัวโขนที่เป็นนางใช้ คนพากย์ ผู้ชายเป็นผู้พากย์เจรจา ซึ่งเสียงผู้ชาย ใหญ่ และห้าวเมื่อ พากย์ เจรจาบทตัวนาง จึงไม่เหมาะสม ท่านก็กำหนดให้นักร้องหญิง ที่พากย์เจรจาโขนได้ พากย์และเจรจา ให้ตัวนางรำ ก็ได้รับความนิยม จากผู้ชมเป็นส่วนมาก



โขนชักรอก

โขนชักรอก นับเป็นวิวัฒนาการ ของการแสดงโขน อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีผู้เขียนไว้ เป็นหลักฐาน โขนชักรอก คือ การแสดงโขน ที่ชักรอกตัวโขน ให้ลอยขึ้นไปจากพื้นเวที มีทั้งแบบโขนฉาก และโขน หน้าจอ โขนชักรอกที่แสดงแบบโขนฉาก มีกำเนิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจาก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอาคันตุกะ เข้ามาเมืองไทย อยู่เนือง ๆ ทรงจัดให้มีการแสดงโขนรับรอง พระราชอาคันตุกะเหล่านั้น และทรงมีพระราชดำริว่า โขนชักรอกเหมาะ ที่จะนำมารับแขกเมือง เพราะตัวแสดงในเรื่องรามเกียรติ์ มีบทบาทต้องเหาะเหินเดินอากาศ การแสดง โขนชักรอก จะทำให้ตัวโขน ลอยขึ้นไปจากพื้นเวที เหมือนเหาะได้จริง ๆ รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้แสดง โขนชักรอก ชุดศึกพรหมาสตร์ หรือหักคอช้างเอราวัณ ดำเนินเรื่องตั้งแต่ อินทรชิต เข้าพิธีชุบสอน พรหมาสตร์ กาลสูรเสนายักษ์ ไปทูลเรื่องมังกรกัณฐ์กับแสงอาทิตย์ตาย อินทรชิตเสียพิธี จึงออกจาก โรงพิธี สั่งให้การุณราช แปลงกายเป็นช้างเอราวัณ พวกพลโยธา แปลงเป็นเทวดา นางฟ้า ส่วนตนเอง แปลงเป็น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณไปสนามรบ ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ นั่งอยู่ บนคอช้าง ขึ้นไปลอยอยู่เหนือเวที ส่วนเทวดานางฟ้า รำอยู่บน พื้นที่ สูงกว่าเวที ทำฉากเป็น ก้อนเมฆบังไว้ สมมติว่าเทวดานางฟ้าเหล่านั้น อยู่บนท้องฟ้า เมื่ออินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ ยกทัพเทวดา นางฟ้า มาถึงสนามรบ พบกับพระลักษณ์ ยกพลวานร ออกมา บนพื้นเวที ผู้ชมก็จะแลเห็น ความแตกต่างระหว่าง ช้างทรงอินทรชิต แปลงเป็นพระอินทร์ ลอยอยู่เหนือเวที และทัพพระลักษณ์ อยู่บนพื้นเวที ทำให้ดูคล้าย ความเป็นจริงว่า ช้างนั้นเหาะได้ ตรงนี้เอง เป็นความตื่นเต้น และสนุกสนานของผู้ชมโขนชักรอก

จากนั้นพระอินทร์แปลงก็สั่งให้ เทวดานางฟ้ารูปนิมิต จับระบำรำฟ้อน พระลักษณ์และพลวานร พากัน เคลิบเคลิ้มหลงใหล พระอินทร์แปลง จึงแผลงศรพรหมาสตร์ ไปถูกพระลักษณ์และพลวานร ล้มตาย ในตอนนี้ เขาจะทำลูกศรหล่น จากบนเพดานเวที สมมติว่าศรพรหมาสตร์ ของอินทรชิตแผลงลงมา จากท้องฟ้า แต่ลูกศรก็ไม่ถูกหนุมาน หนุมานคิดว่าพระอินทร์ลำเอียงไปเข้าข้างพวกยักษ์ แล้วมาทำร้าย พระลักษณ์กับพลวานรก็เกิดความโกรธ เหาะขึ้นไปหาพระอินทร์ มีบทร้องของตัวหนุมานว่า

" ว่าพลางเผ่นโผนโจนทะยาน " หนุมานก็หกคะเมนเข้าข้างหลืบฉาก ผู้แสดงเป็นหนุมาน อีกตัวหนึ่งซึ่ง อยู่ในหลืบฉาก เตรียมใส่รอกไว้พร้อมแล้ว ก็จะออกแสดงโดยผู้ชักรอก จะชักรอกให้หนุมานลอยขึ้นไป หาช้างเอราวัณ ตรงกับบทร้องที่ว่า "………………………………………. เข้าตีควาญท้ายคชาอาสัญ ง้างหักคอคชาเอรวัณ ชิงคันศรศักดิมัฆวาน " ตอนนี้พระอินทร์แปลง ก็จะทำท่าเอาศรตีหนุมาน หนุมานยื้อแย่งคันศร จาก พระอินทร์ฉยู่บทรอก ผู้ชมก็จะรู้สึกเหมือนกับ ได้ชมหนุมานเหาะขึ้นไปรบ กับพระอินทร์บนท้องฟ้า พอถึงบทร้อง ของพระอินทร์แปลงที่ว่า " หันเหียนเปลี่ยนท่าง่าศรจ้อง ตีต้องหนุมานชาญชัยศรี ตกกระเด็นไปกับเศียรกรี สลบพับอยู่กับที่ยุทธนา "

การแสดงในตอนนี้ เขาจะโรยเชือกที่ชักรอกตัวหนุมาน ซึ่งกำลังกอดหัวช้างเอราวัณลงมาที่พื้นเวที สมมติว่าหนุมานตกลงมาบทพื้นดิน

โขนชักรอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ แสดงที่โรงละครมิสกวัน ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๑ ถนนราชดำเนินนอก ตรงข้ามวังปารุสกวัน ตัวโรงละครถูกรื้อไปนานแล้ว ) โรงละครสวนมิสกวัน เป็นโรง ละคร ทันสมัยในครั้งนั้น เพราะก่อสร้างขึ้นมา ตามแบบอย่างโรงละครในทวีปยุโรป

ต่อมาได้มีคณะโขนเอกชน นำการชักรอกตัวโขนไปแสดงในการแสดงโขนหน้าจอ การชักรอกต้องมี สะพานรอก อยู่บนเพดาน วางรางให้รอก เดินตามเพดาน มีผ้าระบาย เป็นภาพ ก้อนเมฆ สำหรับบัง สายรอก ตัวโขนต้องสวมถลกรอก คือผ้าดิบเย็บเป็นแถบ เหมือนกางเกงลิง สวมทับสนับเพลา ก่อนจะ นุ่งผ้ามีหัวเข็มขัดโผล่ออกมา ข้างสะเอวทั้งสองข้าง สำหรับไวัเกี่ยวตา ขอดึงรอกให้ตัวโขนลอยขึ้นไปได้ การชักรอกก็มีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน เช่นกำลังชักรอกอยู่ตามปกติ ตัวโขนก็ทำท่าเหาะ แต่รอกเกิด ติดขัด ไม่เดินต่อไป ทำให้ตัวโขน ต้องห้อยโตงเตง อยู่กลางอากาศ จนกว่าจะแก้ไขให้รอก ทำงานต่อ ตัวโขนจึงจะเคลื่อนที่ต่อไปได้ อีกประการหนึ่ง โขนชักรอก แบบการแสดงโขนหน้าจอ ไม่ค่อยเรียนร้อย และสวยงามเท่าโขนฉาก เพราะโรงโขนหน้าจอ ไม่มีโครงหลังคา ด้านบนที่แข็งแรง คอยรับสายรอก เวลาที่ชักรอก จึงแลเห็นลวดสะลิง ที่ผูกสายรอกห้อยยานลงมา คล้ายเชือกว่าตกท้องช้าง

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากร ปรับปรุงการแสดง โขนชุดศึกพรมมาสตร์ โดยให้การแสดง เป็นแบบโขนชักรอก ในตอนหนุมานเหาะขึ้นไปหักคอช้างเอราวัณ หลังจากที่จัดทำบทและเตรียมการ ฝึกซ้อมพร้อมที่จะนำออกแสดง ณ โรงละครศิลปากร ก็พอดีในคืน วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ เกิด ไฟไหม้โรงละครศิลปากร วอดหมดทั้งหลัง กรมศิลปากรจึงต้องสร้างฉากขึ้นใหม่ แล้วย้ายไปแสดงที่ หอประชุมกระทรวงวัฒนธรรม สนามเสือป่า (ปัจจุบันเป็นกองบัญชาการทหารสูงสุด) โดยเริ่มการ แสดงตั้งแต่ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๓ ถึง วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๐๔ รวม ๓๕ รอบ



โขนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

โขนในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งได้เป็น ๓ ยุค คือ ยุคที่ ๑ เป็นโขน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคที่ ๒ เป็นโขน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคที่ ๓ เป็นโขน ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง

โขนยุคที่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีและเสด็จ ขึ้นเถลิงถวัลย ราชสมบัติแล้ว ทรงฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ุกด้าน สำหรับการแสดงโขนนั้น พระราชมาน พระบรมราชานุญาต ให้เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ หัดโขนได้ โดยไม่ทรงห้ามปราม เพราะฉะนั้น เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงได้ฝึกหัดโขน เพื่อประดับเกียรติของตน การแสดงโขนจึงแพร่หลาย กว้างขวางขึ้น นอกจากน ี้ยังโปรดให้ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่วยกันแต่งบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ สำหรับใช้เป็นบทแสดงโขนละคร โดยพระองค์ทรงตรวจตราแก้ไข ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็ทรง พระราชนิพนธ์ บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวและคำกลอนกระชับขึ้น เหมาะ ในการใช้บทสำหรับแสดงโขนละคร

โขนในยุคต้นรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรือง เพราะเจ้านายหลายองค และขุนนางหลายท่าน ให้การสนับสนุน โดยให้มีการหัดโขน อยู่ในสำนักของตน เช่น โขนของกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (ต้นสกุลกุญชร) โขนของ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โขนของ พระเจ้าพระยาบดินทร์เดชา และโขนของเจ้าพระนคร (น้อย ) เป็นต้น เมื่อเกิดมีโขนขึ้นหลายโรง หลายคณะ แต่ละโรง แต่ละคณะ ก็คงจะประกวดประชันกัน เป็นเหตุให้ศิลปะการแสดงโขน ในสมัยนั้น เจริญแพร่หลาย เป็นที่นิยมของ ประชาชนทั่วไป โขนของเจ้านายและขุนนางดังกล่าวนี้ เรียกว่า "โขนบรรดาศักดิ์"

ในตอนปลายสมัย รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรง พระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเอาพระทัยใส่ และทรงสนับสนุน การแสดง โขน โดยโปรดให้ฝึกหัดพวกมหาดเล็กแสดงโขน เรียกว่า "โขนสมัครเล่น" ผู้ที่ฝึกหัดโขนคณะนี้ล้วนเป็น โอรสเจ้านาย และลูกขุนนางมหาดเล็ก ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทั้งสิ้น ต่างเข้ามาฝึกหัดโขนโดย สมัครใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงบทโขน และทรงควบคุมฝึกซ้อม บางครั้ง ก็ทรงแสดง ด้วยพระองค์เอง โขนสมัครเล่นโรงนี้ มีชื่อเสียงว่าแสดงได้ดี และเคยแสดงใน งานสำคัญ ๆ สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ หลายครั้ง

โขนยุคที่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น และปรับปรุงกรมกอง ตลอดจนการบริหารงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการมหรสพ ให้ดีขึ้น ทรงทำนุบำรุงส่งเสริม ศิลปะ และฐานะของศิลปิน ให้เจริญก้าวหน้าถึงขีดสุด ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ แก่ศิลปินโขนผู้มีฝีมือ แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้รักษา เครื่องโขนก็โปรดให้ม ีบรรดาศักดิ์ด้วย นอกจากน ี้ยังโปรดให้ ตั้งโรงเรียนฝึกหัด ศิลปะการแสดงโขนละคร ดนตรีปี่พาทย์ ขึ้นในกรมมหรสพ เรียกว่า โรงเรียนพรานหลวง โขนยุคที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นยุคที่ เจริญรุ่งเรื่อง ถึงขีดสุดทั้งศิลปะและฐานะของศิลปิน

โขนยุคที่ ๓

โขนยุคที่ ๓ นับเป็น ยุคที่ เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่ระบอบ ประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว โขนก็ตกต่ำ ลงทันที รัชกาลที่ ๗ โปรดให้ ยุบกรมมหรสพ เพราะทรงเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ จำนวนมาก มีการดุนข้าราชการออกจากราชการ รวมทั้งข้าราชการกรมมหรสพด้วย แต่ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ข้าราชการ กรมมหรสพที่ มีความสามรถรวมกันขึ้น แล้วตั้งเป็นกอง เรียกว่า กองมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง มีการฝึกหัดโขน ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โขนหลวง กระทรวงวัง สามารถออกโรงแสดงต้อนรับแขกเมืองในงานสำคัญ ๆ หลายงาน

ครั้นต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลให้โอนกองมหรสพ ไปขึ้นกับกรมศิลปากร ศิลปินโขน ละคร และดนตรีปี่พายท์ จึงย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่กับกรมศิลปากรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนทาง กรมศิลปากรนั้น ได้จัดตั้ง " โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ " ขึ้น และเปิดทำการสอน มาตั้งแต่ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๗ เมื่อรับโอนศิลปิน โขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ มาจาก กองมหรสพ กระทรวงวัง จึงจัดตั้งกองดุริยางคศิลป และกองโรงเรียนศิลปากรเพิ่มขึ้น กองดุริยางคศิลป มีหน้าที่ เกี่ยวกับงานศิลปะ ของแผนกดุริยางค์ไทย และแผนกดุริยางค์สากล ส่วนกองโรงเรียนศิลปากรมีหน้าที่ ทางด้านโรงเรียน โดยแยกเป็น แผนกช่าง และแผนกนาฏดุริยางค์ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ของ กรมศิลปากร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น " โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์" และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนสังคีตศิลป" การศึกษาของโรงเรียนนี้ ได้หยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒

การที่โรงเรียนสังคีตศิลป ต้องหยุดการเรียน การสอนไป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เพราะว่าตัว โรงเรียนถูกภัย จากระเบิดเสียหาย แล้วต่อมา ก็ถูกยืมไปใช้ใน ราชการอย่างอื่น จึงจำเป็น ต้องหยุด การเรียนการสอน ไปชั่วคราว ศิลปะการแสดงโขน ที่ทรุดโทรมอยู่แล้ว ก็ยิ่งทุรดโทรมหนักขึ้นไปอีก กรมศิลปากรไม่ได้ ฝึกหัดศิลปินโขนเพิ่มขึ้นมาอีกเลย เมื่อมีความจำเป็นจะต้องแสดงโขน ก็ใช้ศิลปิน ที่รับโอน มาจากกระทรวงวัง เป็นผู้แสดง ภายหลังศิลปินเหล่านั้น ก็ถึงแก่กรรมไปบ้าง ลาออกไป ประกอบอาชีพ อื่นบ้าง ศิลปินส่วนหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่ก็อายุมาก ไม่อาจออกแสดงโขนได้ เวลามีการ แสดงโขน จึงมีผู้ที่สามารถ แสดงโขนได้ไม่ถึง ๑๐ คน ไม่สามารถแสดงโขนชุดใหญ่ ๆ ที่มีเสนาพล พร้อมได้ ต้องแสดงชุดสั้น ๆ เช่น ทศกัณฐ์รบกับพระราม ถวายลิง ลงอุโมงค์ ฯลฯ เป็นต้น

ครั้นใกล้ จะสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้สั่งให้ กรมศิลปากร แก้ไขปรับปรุง การศึกษาของ โรงเรียนสังคีตศิลป เปิดทำการเรียน การสอนอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ กรมศิลปากร จึงเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนเสียใหม่ว่า "โรงเรียนนาฎศิลป" ต่อมาถึงปัจจุบันก็คือ วิทยาลัยนาฏศิลป นั่นเอง

เมื่อโรงเรียน นาฏศิลป เปิดสอนใหม่ ๆ นั้น มีนักเรียนเก่า ที่เคยเรียนอยู่เดิม กลับมาเรียนเพียง ไม่กี่สิบคน และเป็นนักเรียนหญิง ทั้งสิ้น เมื่อหลักสูตร การเรียน วิชานาฎศิลปโขน กรมศิลปากร จึงเปิดรับเด็กชายเข้ามาเรียนโขน แต่ก็หาเด็กที่สมัครใจมาเรียนยาก จึงรับไว้ได้ไม่กี่คนไม่เพียงพอ ที่จะฝึกหัดแล้วออก แสดงโขนได้ทั้งโรง เดือดร้อนถึงนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีต กรมศิลปากร ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสังคีต มีหน้าที่บังคับบัญชารับผิดชอบ โรงเรียนนาฏศิลปโดยตรง ต้องหา ที่จะรับเด็กชาย เข้ามาฝึกหัดให้มาก ๆ โดยการส่งครูโขนละครออกไป ชักชวน ลูกหลานของพวกที่ ตนรู้จักให้สมัครเข้าเรียนโขน นอกจากนี้ ยังชักชวนเด็กผู้ชายที่มีผู้ปกครอง ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่แถว ๆ ท่าข้างวังหน้า หรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งผู้ปกครอง ของเด็กผู้ชายหลายคน มีอาชีพ แจวเรือรับส่ง ผู้โดยสารข้ามฟาก ให้ส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป ซึ่งก็ได้ผลดี ตามสมควร เพราะปรากฏว่า มีเด็กผู้ชายสมัครเข้าเรียนกันเกือบร้อยคน

โดยเหตุที่ โรงเรียนนาฏศิลป ต้องการเด็กผู้ชาย เป็นจำนวนมาก มาหัดโขน เพื่อเป็นการฟื้นฟูโขน ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ดังนั้น โรงเรียนนาฏศิลป จึงมิได้กำหนดวิทยฐานะ ในการรับนักเรียนชาย เข้าฝึกหัดโขน นักเรียนเหล่านี้ จึงมีพื้นความรู้ผิดแผกแตกต่างกันไป นับตั้งแต่ ไม่มีความรู้ทางด้าน หนังสือเลย ไปจนถึงมีความรู้ ระดับมัธยมตอนต้นลงมา โรงเรียนนาฏศิลป จึงต้องกำหนด หลักสูตร วิชาสามัญ ให้นักเรียนที่หัดโขน ได้เรียนควบคู่กันไปด้วย นักเรียนที่ไม่สนใจ การเล่าเรียนหนังสือ ต้องออกไปเสียกลางคัน ก็มีมิใช่น้อย ที่อดทนเรียนโขนไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย จนสำเร็จการศึกษา โรงเรียนนาฏศิลป ปัจจุบันรับราชการ อยู่ในกรมศิลปากรก็มีหลายคน กล่าวได้ว่า โขนกลับฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เพราะได้มีการฝึกหัด อย่างจริงจังในโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนนาฏศิลป เลื่อนวิทยฐานะ เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป ก็ยังมี การฝึกหัดโขนกันอย่างต่อเนื่อง

ขอย้อนกลับไป เล่าถึงเมื่อ ตอนที่โรงเรียนนาฏศิลป เปิดรับเด็กผู้ชายฝึกหัดโขน เป็นครั้งแรกมีนักเรียน มาสมัครเรียน กันไม่มาก แต่ต่อเมื่อทางโรงเรียน พิจารณาคัดเลือกนักเรียน ที่เรียนดี และให้ได้รับ เบี้ยเลี้ยง ประจำเดือนๆ ละ ๖ บาท ต่อคน และบรรจุเข้าเป็นศิลปินสำรอง เพื่อจะได้ รับราชการ ในกรม ศิลปากรต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทำให้มีเด็กผู้ชายสมัครเข้ามาเรียนโขน กันมากขึ้น และต่อมา เบี้ยเลี้ยง ของศิลปินสำรอง ก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๕ บาท เบี้ยเลี้ยงศิลปินสำรองนี้ เพิ่งมายกเลิก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื่องจาก นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร สามารถขอให้ ทางราชการ บรรจุ นักเรียนนาฎศิลป ที่สำเร็จการศึกษาตามระดับชั้น เข้าเป็น ข้าราชการ ในกรมศิลปากร และเรียนหนังสือ ไปด้วยพร้อมๆ กัน เช่น นักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นต้นปีที่ ๖ สามารถรับราชการ เป็นศิลปินจัตวา อันดับ ๑ นักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นกลางปีที่ ๓ สามารถรับราชการเข้าเป็นศิลปินจัตวาอันดับ ๒ และนักเรียนที่เรียน สำเร็จสู่ชั้นปีที่ ๒ สามารถรับราชการเป็นศิลปินตรี

เมื่อนักเรียน โรงเรียนชายนาฏศิลป ฝึกหัดโขน ในสมัยเปิดโรงเรียนนาฏศิลปใหม่ ๆ จนมีความรู้ ความสามารถออกโรงแสดงโขนได้ กรมศิลปากร จึงจัดโขนของโรงเรียนนาฏศิลป แสดงในงานต่าง ๆ เช่น งานรับรองพระราชอาคันตุกะ งานต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนงาน ของทางราชการและงาน ของเอกชนทั่วไป

ต่อมากรมศิลปากร ได้จัดโขนเป็นชุดๆ นำออกแสดง ณ โรงละครศิลปากร (ไฟไหม้แล้ว) เป็นประจำ ในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อกรมศิลปากร นำโขนออกแสดงแรก ๆ ก็ได้รับอุปสรรค จากเยาวชนในสมัยนั้น ที่กำลังรุมหลงศิลปวัฒนธรรมทางตะวันตก จนดูหมิ่นการแสดง โขนของไทย หาว่าเป็นเรื่องเหลวไหลล้าสมัย ไม่สมควรจะนำมาแสดงกันอีก เรื่องนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งในสมัยที่ ท่านฟื้นฟูการแสดงโขนนั้น ดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ท่านเขียนเล่าไว้ในเรื่อง "เมื่อโขนคืนชีพศิลปินมลาย" ตีพิมพ์ในหนังสือ บทโขน ซึ่งกรม ศิลปากรจัดพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ จมื่นสมุหพิมาน หรือ หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) ความตอนหนึ่งมีว่า

"ในฤดูกาลจัดแสดงนั้น เมื่อจัดแสดงโขนชุดใด เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ก็ให้ช่างทำป้ายโฆษณา แล้วยกขึ้นติดตั้ง ณ ริมรั้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตรงหน้าโรงละครศิลปากร เป็นการประกาศ โฆษณาให ้ประชาชนได้ทราบ แต่มีอยู่วันหนึ่ง ในราว ๑๐.๐๐ น. ขณะที่ข้าพเจ้า ยืนดูช่างและคนงาน กำลัง ช่วยกันยก ป้ายแผ่นใหญ่ โฆษณาโขน ชุดนาคบาศ ขึ้นติดตั้ง ก็มีเยาวชน ในสมัยนั้น กลุ่มหนึ่ง เดินผ่านมา แล้วส่งเสียงอันดังเข้าหูข้าพเจ้าว่า "เอ๊ะ,ยังมาเล่นโขนบ้าบออะไรกันอยู่อีกก็ไม่รู้ ถอยหลัง เข้าคลองแท้ ๆ ควรจะเอาไปฝั่ง หรือทิ้งน้ำกันเสียที" แล้วเขาก็หัวเราะกัน ทั้งนี้ แสดงถึงฐานะ ทาง จิตใจของเยาวชนไทย บางจำพวก ในสมัยนั้นที่มีต่อศิลปะประเภทนี้"

ถึงแม้ว่า จะได้รับการดูถูกเหยียดหยาม และไม่ให้การสนับสนุน การแสดงโขน ของกรมศิลปากร จาก เยาวชนบางจำพวก หรือจากคนไทย ที่หลงผิดหันไปสนใจใฝ่นิยม ศิลปะของชนชาติอื่น ในสมัยนั้น แต่ คนไทย ที่ยังรักศิลปะไทย รักโขนก็ยังมีอยู่อีกมิใช่น้อย โขนของไทย จึงฝ่าพ้นอุปสรรคทั้งปวงไปด้วยดี แสดงเมื่อใด ก็มีผู้สนใจเข้าชม กันอย่างเนื่องแน่น ปัจจุบันนี้ โขนเป็นนาฏศิลป คู่ชาติไทยที่ได้รับความ สนใจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากเรา จะแสดงโขนให้คนไทย และชาวต่างชาติ ชมในเมืองไทย แล้ว เรายังนำโขน ไปแสดงในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ชมโขนของไทยกันอีกด้วย

การแสดงโขนของเรา ในทุกวันนี้ ก็วิวัฒนาการ ให้เหมาะกับ สมัยที่ผู้ชม ต้องการชมเรื่องอย่างรวดเร็ว ทันใจ ดังนั้น จึงมีการปรับปรุง บทสำหรับแสดงโขน ให้รัดกุมตัดทอน เรื่องให้ดำเนินไป อย่างรวดเร็ว ไม่อืดอาด ล่าช้าอย่างสมัยก่อน แต่การปรับปรุง ก็มิได้ทำให้เสียศิลปะแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ชมโขน ยังจะได้ความรู้ เกี่ยวกับ ตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นตัว ๆ ไปอีกด้วย โดยการนำเอา เรื่องราวของ ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ในเรื่องรามเกียรติ์ มาจัดทำเป็นบทโขน ว่าด้วยเรื่องของตัวนั้น ๆ โดยเฉพาะเช่น แสดงประวัติชีวิต ของพาลีในชุดพาลีสอนน้อง แสดงประวัติชีวิต ของหนุมานในชุด หนุมานชาญสมร แสดงประวัติชีวิต ของพิเภกในชุดมารซื่อชื่อพิเภก ฯลฯ เป็นต้น จากการแสดงโขนชุดดังกล่าว มีผู้สนใจ เข้าชมกันมากมาย เพราะผู้ชมได้รับ ทั้งความบันเทิงและ ความรู้ควบคู่กันไปด้วย

ทุกวันนี้ นอกจากจะมีโขน ของกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโขนของ คณะเอกชน อีกหลายคณะ ที่รับจัดแสดง ตามงานทั่วไป และโขนของสถาบันการศึกษา อีกมากมายหลายสถาบัน ซึ่งมีผู้แสดงนับ ตั้งแต่นักเรียน ระดับชั้นประถม ไปจนถึงนักศึกษาระดับปริญญา จึงควรจะมั่นใจได้ว่า โขนจะเจริญก้าวหน้าต่อไป และเป็นที่นิยมชมชอบของชาวไทย ตลอดจน ชาวต่างชาติที่ได้ ชมการแสดงโขนโดยทั่วหน้ากัน