Custom Search

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความรู้แพะ

การเลี้ยงแพะ

 

การเลี้ยงและการดูแลสุขภาพแพะ

              การเลี้ยงสัตว์กำลังได้รับการสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากการปลูกพืชแล้ว  การเลี้ยงสัตว์ยังเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งเป็นรายได้หลักและรายได้เสริม ปัจจุบันประเทศไทยนอกจากจะเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทำรายได้ปีละหลายพันล้านบาท แพะเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่น่าทำการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเลี้ยงเช่นเดียวกับสัตว์อื่น การผลิตแพะยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เพราะนอกจากจะเลี้ยงแพะเพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีแนวโน้มที่สามารถจะส่งแพะไปจำหน่ายยังประเทศข้างเคียงได้อีกด้วย

              แพะเป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยง ทั้งนี้เพราะแพะนอกจากจะเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็วแล้ว ยังมีข้อดีต่าง ๆ อีกมาก เช่น

  1. แพะเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนม มีขนาดเล็ก ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กก็สามารถให้การดูแลได้
  1. แพะเป็นสัตว์ที่หาอาหารกินเองได้เก่ง กินอาหารได้หลายชนิดดังนั้นถึงแม้ฤดูแล้ง แพะก็สามารถหา

วัชพืชที่โค-กระบือไม่กิน กินเป็นอาหารได้

  1. แพะมีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้เร็ว สามารถใช้แพะผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียง 8 เดือน
  1. แพะมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง แม่แพะมักคลอดลูกแฝด และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกสั้น จึงทำให้

สามารถตั้งท้องได้ใหม่

  1. แพะเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงเพียงเล็กน้อย ทั้งพื้นที่โรงเรือน และพื้นที่สำหรับปลูกพืชอาหาร

สัตว์สำหรับแพะ

  1. แพะเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีความทนทานต่อสภาพอากาศแล้ง และ

ร้อนได้ดี

  1. แพะเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารบริโภคสำหรับประชาชนของทุกศาสนาเพราะไม่มีศาสนาใดห้าม

บริโภคเนื้อแพะ

ลักษณะและวิธีการเลี้ยงแพะ

              ลักษณะและวิธีการเลี้ยงแพะโดยทั่วไปสามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 4 แบบด้วยกันคือ

  1. การเลี้ยงแบบผูกล่าม การเลี้ยงแบบนี้ใช้เชือกผูกล่ามที่คอแพะแล้วนำไปผูกให้แพะหาหญ้ากินรอบ

บริเวณที่ผูก โดยปกติเชือกที่ใช้ผูกล่ามแพะมักมีความยาวประมาณ 5-10 เมตร การเลี้ยงแบบนี้ผู้เลี้ยงจะต้องมีน้ำและอาหารแร่ธาตุไว้ให้แพะกินเป็นประจำด้วย ในเวลากลางคืนก็ต้องนำแพะกลับไปเลี้ยงไว้ในคอกหรือเพิงที่มีที่หลบฝน การผูกล่ามแพะควรเลือกพื้นที่ที่มีร่มเงาที่แพะสามารถหลบแดดหรือฝนไว้บ้าง หาก

จะให้ดีเมื่อเกิดฝนตกควรได้นำแพะกลับเข้าเลี้ยงในคอก

  1. การเลี้ยงแบบปล่อย การเลี้ยงแบบปล่อยนี้เกษตรกรมักปล่อยแพะให้ออกหาอาหารกินในเวลา

กลางวัน โดยเจ้าของจะคอยดูและตลอดเวลาหรือเป็นบางเวลาเท่านั้น ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากในบ้านเราเพราะเป็นการเลี้ยงที่ประหยัด เกษตรกรไม่ต้องตัดหญ้ามาเลี้ยงแพะ การปล่อยแพะหาอาหารกินอาจปล่อยในแปลงผักหลังการเก็บเกี่ยวหรือปล่อยให้กินหญ้าในสวนยาง แต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้แพะเที่ยวทำความเสียหายแก่พืชที่เกษตรกรเพาะปลูก ทั้งนี้เพราะแพะกินพืชได้หลายชนิด การปล่อยแพะออกหาอาหารกินไม่ควรปล่อยในเวลาที่แดดร้อนจัดหรือฝนตก เพราะแพะอาจเจ็บป่วยได้ โดยปกติเกษตรกรมักปล่อยแพะหาอาหารกิน ตอนสายแล้วไล่ต้อนกลับเข้าคอกตอนเที่ยง หรือปล่อยเพะออกหาอาหารกินตอนบ่ายแล้วไล่ต้อนกลับเข้าคอกตอนเย็น หากพื้นที่ที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์แพะจะกินอาหารเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว

  1. การเลี้ยงแบบขังคอก การเลี้ยงแบบนี้เกษตรกรขังแพะไว้ในคอกรอบ ๆ คอก อาจมีแปลงหญ้าและมี

รั้วรอบแปลงหญ้าเพื่อให้แพะได้ออกกินหญ้าในแปลง บางครั้งเกษตรกรตัองตัดหญ้าเนเปียร์หรือกินนีให้แพะกินบ้าง ในคอกต้องมีน้ำและอาหารข้นให้กิน การเลี้ยงวิธีนี้ประหยัดพื้นที่และแรงงานในการดูและแพะ แต่ต้องลงทุนสูง เกษตรกรจึงไม่นิยมทำการเลี้ยงกัน

  1. การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช การเลี้ยงแบบนี้ทำการเลี้ยงได้ 3 ลักษณะที่กล่าวข้างต้น แต่

การเลี้ยงลักษณะนี้เกษตรกรจะเลี้ยงแพะปะปนไปกับการปลูกพืช เช่น ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกมะพร้าว ในภาคใต้ของประเทศไทย มีเกษตรกรจำนวนมากที่ทำการเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการทำสวนยาง โดยให้แพะหากินหญ้าใต้ต้นยางที่มีขนาดโตพอสมควร การเลี้ยงแบบนี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว

 

โรงเรือนและอุปกรณ์ในการเลี้ยงแพะ

              แพะก็เหมือนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ คือจะต้องมีสถานที่สำหรับแพะได้พักอาศัยหลบแดด หลบฝน หรือเป็นที่สำหรับนอนในเวลากลางคืน การสร้างโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงแพะควรได้ยึดหลักดังต่อไปนี้

  1. พื้นที่ตั้งของคอก คอกแพะควรอยู่ในที่เนินน้ำไม่ท่วมขัง แต่ถ้าหากพื้นที่ที่ทำการเลี้ยงแพะมีน้ำท่วม

ขังเวลาฝนตก ก็ควรสร้างโรงเรือนแพะให้สูงจากพื้นดินตามความเหมาะสม แต่ทางเดินสำหรับแพะขึ้นลงไม่ควรมีความลาดสูงกว่า 45 องศา เพราะหากสูงมากแพะจะไม่ค่อยกล้าขึ้นลง พื้นคอกที่ยกระดับจากพื้นดินควรทำเป็นร่อง โดยใช้ไม้ขนาดหนา 1 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว ปูพื้นให้เว้นร่องระหว่างไม้แต่ละอันห่างกันประมาณ 1.5 เซนติเมตรหรืออาจจะใช้พื้นคอนกรีต โดยปูพื้นคอกแพะด้วยสแลตที่ปูพื้นคอกสุกรก็ได้ พื้นที่เป็นร่องนี้จะทำให้มูลของแพะตกลงข้างล่าง พื้นคอกจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ

  1. ผนังคอก ผนังคอกแพะควรสร้างให้โปร่งใส เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ผนังคอกควรมีความสูงไม่ต่ำ

กว่า 1.5 เมตร ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แพะกระโดดหรือปีนข้ามออกไปได้

  1. หลังคาโรงเรือน แบบของหลังคาโรงเรือนเลี้ยงแพะมีหลายแบบ เช่น เพิงหมาแหงน หรือแบบหน้า

จั่ว เกษตรกรที่จะสร้างควรเลือกแบบที่คิดว่าเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และทุนทรัพย์ หลังคาโดยปกติมักจะสร้างให้สูงจากพื้นคอกประมาณ 2 เมตร ไม่ควรสร้างโรงเรือนให้หลังคาต่ำเกินไปเพราะอาจทำให้ร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก สำหรับวัสดุที่ใช้มุงหลังคาจะใช้จากหรือแฝก หรือสังกะสีก็ได้

ความต้องการพื้นที่ของแพะ แพะมีความต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยในโรงเรือนประมาณตัวละ 1 ตารางเมตร ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงมักแบ่งภายในโรงเรือนออกเป็นคอก ๆ แต่ละคอกขังแพะรวมฝูงกันประมาณ 10 ตัว โดยคัดขนาดของแพะให้ใกล้เคียงกันขังรวมฝูงกัน แต่ถ้าหากเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าก่อสร้างก็อาจขังแพะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในโรงเรือนเดียวกัน โดยไม่แบ่งเป็นคอก ๆ ก็ได้

  1. รั้วคอกแพะ เกษตรกรบางรายเลี้ยงแพะไว้ในโรงเรือนและมีบริเวณสำหรับให้แพะเดินเล่นรอบ

โรงเรือน บริเวณเหล่านี่จะทำรั้วล้อมรอบป้องกันไม่ให้แพะออกไปภายนอกได้ รั้วที่ล้อมรอบโรงเรือนแพะไม่ควรใช้ลวดหนามเป็นวัสดุ เพราะแพะเป็นสัตว์ซุกซน อาจได้รับอันตรายจากลวดหนามได้ รั้วควรสร้างด้วยไม่ไผ่หรือลวดตาข่าย ทุกระยะ 3-4 เมตร จะมีเสาปักเพื่อยึดให้รั้วแข็งแรง หากจะสร้างรั้วให้ประหยัดอาจใช้กระถินปลูกเป็นแนวรั้วปนกับใช้ไม้ไผ่ก็จะทำให้รั้วไม้ไผ่คงทนและใช้งานได้นาน โดยระยะแรกสร้างรั้วไม่ไผ่แล้วปลูกกระถินเป็นแนวข้างรั้วไม้ไผ่ เมื่อกระถินโตขึ้นก็จะเป็นรั้วทดแทนต่อไป

 

พันธุ์แพะ

  1. แพะพื้นเมืองในประเทศไทย มีหลายพันธุ์ด้วยกัน แพะทางแถบตะวันตก เช่น ที่จังหวัดตาก จังหวัด

กาญจนบุรี เป็นแพะที่มาจากแถบประเทศอินเดีย หรือปากีสถานมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ ส่วนแพะทางใต้ของประเทศไทย มีขนาดเล็กเข้าใจกันว่ามีสายพันธุ์เดียวกับแพะพื้นเมืองของมาเลเซีย คือพันธุ์แกมบิงกัตจัง แพะพื้นเมืองทางใต้มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนมต่ำ

  1. แพะพันธุ์ต่างประเทศ เนื่องจากแพะพื้นเมืองของประเทศไทยมีขนาดเล็ก ให้ผลผลิตต่ำ กรมปศุ

สัตว์จึงมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงพันธุ์แพะของประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น ให้แพะเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนม ดังนั้นจึงได้นำแพะพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปผสมพันธุ์กับแพะพื้นเมืองเพื่อให้คุณภาพของแพะดีขึ้น สำหรับแพะพันธุ์ต่างประเทศที่กรมปศุสัตว์นำเข้ามาขยายพันธุ์ ได้แก่

2.1) แพะพันธุ์ซาเนน เป็นแพะนมที่ขนาดใหญ่ให้ผลผลิตนมสูงกว่าแพะพันธุ์อื่น ๆ แพะพันธุ์นี้มีขนสั้น ดั้งจมูกและใบหน้ามีลักษณะตรงใบหูเล็กและตั้งชี้ไปข้างหน้า ปกติจะไม่มีเขาทั้งในเพศผู้และเพศเมีย แต่เนื่องจากมีแพะกระเทยในแพะพันธุ์นี้มาก จึงควรคัดเฉพาะแพะที่มีเขาไว้เป็นพ่อพันธุ์ เพราะมีรายงานว่าลักษณะกระเทยมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมอยู่กับลักษณะของการไม่มีเขา แพะพันธุ์นี้มีสีขาว สีครีม หรือสีน้ำตาลอ่อน ๆ น้ำหนักโตเต็มที่ประมาณ 60 กิโลกรัม สูงประมาณ 70-90 เซนติเมตร ให้น้ำนมประมาณวันละ 2 ลิตร ระยะเวลาการให้นมนานถึง 200 วัน มีหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เลี้ยงแพะพันธุ์นี้อยู่มาก เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และประเทศไทย แต่ก็มักมีปัญหาที่ว่าแพะพันธุ์นี้ปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศในแถบนี้ไม่ค่อยดีนัก แต่ถ้าหากเลี้ยงแพะพันธุ์นี้ไว้ในลักษณะขังคอกตลอดเวลา ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยลดลงและให้ผลผลิตดี

2.2) แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน กรมปศุสัตว์นำเข้ามาเลี้ยง ขยายพันธุ์กว่า 20 ปีแล้ว เพื่อปรับปรุงพันธุ์แพะพื้นเมืองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แพะพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ น้ำหนักตัว มีน้ำหนักแรกเกิด 2-5 กิโลกรัม น้ำหนักหย่านม (3 เดือน) 15 กิโลกรัม ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 75 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 50-60 กิโลกรัม ดั้งจมูกมีลักษณะโด่งและงุ้ม ใบหูยาวและปรกลง ปกติแพะพันธุ์นี้จะไม่มีเขา แต่ถ้าหากมีเขาเขาจะสั้นและเอนแนบติดกับหนังหัว ขนสั้นละเอียดเป็นมัน มีขายาวซึ่งช่วยให้เต้านมอยู่สูงกว่า ระดับพื้นมากและทำให้ง่ายต่อการรีดนม และยังช่วยให้เต้านมไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากหนามวัชพืชเกี่ยว แพะพันธุ์นี้มีหลายสีเช่น ดำ เทา ครีม น้ำตาล น้ำตาลแดง และอาจมีจุดหรือด่างขนาดต่าง ๆ ได้ ผลผลิตน้ำนมประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน ระยะเวลาให้น้ำนมประมาณ 165 วัน

2.3) แพะพันธุ์บอร์ กรมปศุสัตว์นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี พ..2539 เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่ ลักษณะเด่น คือมีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก มีน้ำหนักแรกเกิด 4 กิโลกรัม น้ำหนักหย่านม 20 กิโลกรัม โตเต็มที่ตัวผู้หนักประมาณ 90 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 65 กิโลกรัม

การเลือกพันธุ์แพะ

              การที่จะให้การเลี้ยงแพะประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งก็คือพันธุ์แพะที่จะใช้เป็นพ่อ-แม่

พันธุ์ที่ดีหากเลี้ยงอย่างถูกวิธี จะให้ผลผลิตที่ดีด้วย

              การเริ่มต้นในการเลี้ยงแพะควรเริ่มจากการเลี้ยงแพะพื้นเมืองหรือแพะลูกผสมระหว่างแพะพันธุ์พื้นเมือง กับแพะพันธุ์ต่างประเทศที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้ว เพราะนอกจากจะเลี้ยงดูง่ายแล้วยังลงทุนต่ำอีกด้วย เมื่อมีความรู้และประสบการณ์แล้วก็เริ่มเลี้ยงแพะพันธุ์แท้ ซึ่งอาจจะใช้แต่พ่อพันธุ์แพะที่ดีนำมาผสมพันธุ์กับแม่แพะหรือปรับปรุงพันธุ์แพะในฝูงให้ดีขึ้น

              การเลือกพ่อ-แม่พันธุ์แพะที่จะทำการเลี้ยงนั้น พ่อพันธุ์ควรคัดเลือกแพะที่มีสายเลือดแพะพันธุ์แท้ รูปร่างสูงใหญ่ น้ำหนักตัวมากที่สุดในฝูงมีความแข็งแรง มีความสมบูรณ์พันธุ์โดยควรคัดพ่อพันธุ์แพะที่เกิดจากแม่แพะที่ให้ลูกแฝดสูง และทีสำคัญคือพ่อพันธุ์แพะควรมีความกระตือรือร้นที่จะทำการผสมพันธุ์กับแม่แพะที่เป็นสัด

              แม่พันธุ์แพะที่จะเลือกควรเป็นแม่พันธุ์ที่มีรูปร่างลักษณะดี ลำตัวยาวเต้านมมีขนาดใหญ่ สมส่วน นิ่ม และหัวนมยาวสม่ำเสมอกัน ปริมาณน้ำนมมากสามารถผสมติดง่ายและให้ลูกแฝด

 

การประมาณอายุแพะ

              การประมาณอายุของแพะ สามารถดูได้จากฟันของแพะ แพะมีฟันล่าง 8 ซี่ ฟันแท้ของแพะจะงอกขึ้นมาแทนฟันน้ำนมเป็นคู่ ตั้งแต่อายุ 1 ปี ถึง 4 ปี และหลังจากแพะอายุได้ 4 ปี แล้วฟันแท้ก็จะค่อย ๆ ร่วงหลุดไป

 

การปฏิบัติเลี้ยงดูแพะ

              การปฏิบัติเลี้ยงดูแพะตัวผู้และตัวเมีย ก็คล้ายกันแต่ควรแยกแพะตัวผู้และตัวเมีย อย่าให้เลี้ยงปนกันตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน การใช้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน

  1. การเลี้ยงดูพ่อพันธุ์แพะ ภายหลังจากแยกพ่อพันธุ์แพะอายุ 3 เดือน จากแพะตัวเมียแล้ว พ่อพันธ์ควร

ได้รับอาหารที่มีพลังงานสูง และได้ออกกำลังเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พ่อพันธุ์แพะเริ่มให้ผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ 8 เดือน โดยไม่ควรให้พ่อพันธุ์ผสมพันธุ์แบบคุมฝูงกับแพะตัวเมียเกินกว่า 20 ตัว ก่อนอายุครบ 1 ปี หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ให้ผสมพันธุ์ได้มากขึ้นแต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้พ่อพันธุ์แพะคุมฝูงแพะตัวเมียเกินกว่า 25 ตัว

              แพะตัวผู้ควรได้รับการตัดแต่งกีบเสมอ ๆ และอาบน้ำ กำจัดเหาเป็นครั้งคราว

  1. การเลี้ยงดูแม่พันธุ์แพะ แพะพันธุ์เมืองมักเริ่มเป็นสัดตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยอาการเป็นสัดของแพะตัว

เมียจะเป็นประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นจะเป็นสัดครั้งต่อไปห่างจากครั้งแรกประมาณ 21 วัน แพะตัวเมียเริ่มให้

ได้รับการผสมพันธุ์เมื่ออายุ 8 เดือน การผสมพันธุ์แพะตัวเมียตั้งแต่อายุน้อย ๆ อาจทำให้แพะแคระแกร็นได้ หลังจากได้รับการผสมพันธุ์แล้วอาจจะปล่อยแพะตัวเมียเข้าฝูงโดยไม่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด นอกจากแพะตัวเมียนั้นจะผอมหรือป่วย ถ้าแพะตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วกลับเป็นสัดอีกภายหลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 21 วัน ให้ทำการผสมพันธุ์ใหม่ หากแพะตัวเมียยังกลับเป็นสัดอีก และพ่อพันธุ์แพะที่ใช้ผสมมีความสมบูรณ์พันธุ์ดี ก็ควรจะคัดแพะตัวเมียที่ผสมไม่ติดนี้ทิ้งเสีย

              โดยปกติแพะตัวเมียที่ผสมติดจะตั้งท้องนานประมาณ 150 วัน ลักษณะอาการใกล้คลอดจะเห็นได้ดังนี้

  1. เต้านมและหัวนมจะขยายใหญ่ขึ้นก่อนคลอดประมาณ 2 เดือน
  1. แม่แพะจะแสดงอาการหงุดหงิด ตื้นเต้น และร้องเสียงต่ำ ๆ
  1. บริเวณสวาปด้านขวาจะยุบเป็นหลุมก่อน จากนั้นจะเห็นรอยยุบเป็นหลุมชัดที่สะโพกทั้ง 2 ข้าง
  1. อาจมีน้ำเมือกไหลออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อยก่อนคลอดหลายวัน จากนั้นน้ำเมือกจะมีลักษณะ
  1. เปลี่ยนเป็นขุ่นขึ้น และมีสีเหลืองอ่อน ๆ อาจจะคุ้ยเขี่ยหญ้า หรือฟางรอบ ๆ ตัวเหมือนจะเตรียมตัวคลอด
  1. แม่แพะจะหงุดหงิดมากขึ้นทุกที เดี๋ยวนอนเดี๋ยวลุกขึ้น แล้วนอนลงเบ่งเบา ๆ

              เมื่อแม่แพะแสดงอาการดังกล่าว ควรปล่อยแม่แพะให้อยู่เงียบ ๆ อย่าให้มันถูกรบกวน เตรียมผ้าเก่า ๆ ด้ายผูกสายสะดือ ใบมีดโกน และทิงเจอร์ไอโอดีนไว้ เมื่อถุงน้ำคล่ำแตกแล้ว ลูกแพะจะคลอดออกมาภายใน 1 ชั่วโมง หากแม่แพะเบ่งนานและยังไม่คลอด ให้ช่วยโดยหาฟางมารองก้นแม่แพะเพื่อยกส่วนท้ายให้สูงขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้ลูกแพะในท้องคลอดง่ายขึ้น

              ทันทีที่ลูกแพะคลอดออกมา ให้ใช้ผ้าที่เตรียมไว้เช็ดตัวให้แห้งพยายามเช็ดเยื่อเมือกในจมูกออกให้หมดเพื่อให้ลูกแพะหายใจได้สะดวก จากนั้นผูกสายสะดือให้ห่างจากพื้นท้องประมาณ 2-3 เซนติเมตร

แล้วตัดสายสะดือทาทิงเจอร์ไอโอดีน เมื่อตัดสายสะดือแล้วอุ้มลูกแพะไปนอนในที่ที่เตรียมไว้หากเป็นไปได้ควรนำลูกแพะไปตากแดดสักครู่เพื่อให้ตัวลูกแพะแห้งสนิทจะช่วยให้ลูกแพะกระชุ่มกระชวยขึ้น

              รกจะถูกขับออกมาภายใน 4 ชั่วโมง ถ้าเกินกว่า 6 ชั่วโมงแล้วรถยังไม่ถูกขับออก ก็ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ หลังจากคลอดแล้วให้เอาน้ำมาตั้งให้แม่แพะได้กินเพื่อทดแทนของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป

  1. การดูแลลูกแพะ ควรให้ลูกแพะได้กินนมน้ำเหลืองของแม่แพะและปล่อยให้ลูกแพะได้อยู่กับแม่

แพะ 3-5 วัน ถ้าต้องการจะรีดนมแพะก็ให้แยกแม่แพะออก ระยะนี้เลี้ยงลูกแพะด้วยหางนมละลายน้ำใน

อัตราส่วน หางนม 1 ส่วนต่อน้ำ 8 ส่วน การให้อาหารลูกแพะในระยะต่าง ๆ สามารถดูได้จากตารางในเรื่องการให้อาหาร ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป เกษตรกรไทยโดยทั่วไปมักไม่ได้แยกลูกแพะออกจากแม่ตั้งแต่เล็ก ส่วนใหญ่จะปล่อยลูกแพะให้อยู่กับแม่แพะจนมันโต ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม่แพะมักไม่สมบูรณ์และผสมพันธุ์ได้ช้าเพราะแม่แพะไม่ค่อยเป็นสัด ดังนั้นทางที่ดีหากเกษตรกรยังให้ลูกแพะอยู่กับแม่แพะตั้งแต่เล็ก ๆ ก็ควรแยกลูกแพะออกจากแม่แพะเมื่อลูกแพะมีอายุได้ประมาณ 3 เดือน ลูกแพะที่มีอายุ 3 เดือน เราสามารถทำการคัดเลือกไว้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์แพะตัวผู้ที่ไม่ต้องการใช้ทำการผสมพันธุ์ก็ทำการตอนในระยะนี้ หากไม่ต้องการให้แพะมีเขาก็อาจกำจัดโดยจี้เขาด้วยเหล็กร้อนหรือสารเคมีก็ได้

ภายหลังหย่านม ควรทำการถ่ายพยาธิตัวกลม ตัวตืดและพยาธิใบไม้ในตับ ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ปากและเท้าเปื่อยและวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย การถ่ายพยาธิและฉีดวัคซีน จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แพะมีสุขภาพที่ดี และสามารถใช้ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 8 เดือน

              แม่แพะที่คลอดลูกแล้วประมาณ 3 เดือน เมื่อเป็นสัดก็สามารถเอาพ่อพันธุ์แพะมาทำการผสมพันธุ์ได้อีก หากแม่แพะใช้รีดนมผู้เลี้ยงก็รีดนมแม่แพะได้จนถึง 6-8 สัปดาห์ก่อนคลอดจึงหยุดทำการรีดนม

 

อาการและการให้อาหารแพะ

              แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายโค แพะมีกระเพาะหมัก ซึ่งอาศัยจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในย่อยอาหารและสังเคราะห์ไวตามิน ดังนั้นการให้อาหารข้นเสริม ก็ควรระมัดระวังอย่าให้อาหารที่มีสารต้านหรือทำลายจุลินทรีย์โดยเฉพาะอาหารสำหรับสุกรมักมีสารดังกล่าวอยู่ ในปัจจุบันการผสมอาหารข้นสำหรับแพะ-แกะ จำหน่ายยังไม่แพร่หลาย เกษตรกรอาจใช้อาหารโคนมผสมสำเร็จที่มีขายอยู่ทั่วไป เลี้ยงแพะแทนอาหารข้นสำหรับแพะ หรือหากต้องการผสมอาหารข้นเลี้ยงแพะเอง ก็สามารถทำได้ตามสูตรอาหารที่ให้ไว้ท้ายตารางการให้อาหารที่จะกล่าวต่อไป

              ปกติแพะมีความต้องการอาหารหยาบเช่น หญ้าสดต่าง ๆ ในปริมาณวันละประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวแพะ และต้องการอาหารข้นประมาณวันละ 0.5-1.0 กิโลกรัม นอกจากนั้นแพะยังต้องการน้ำและแร่ธาตุเสริมเป็นประจำอีกด้วย แพะต้องการน้ำกินวันละประมาณ 5-9 ลิตร ความต้องการน้ำมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพตัวแพะและภูมิอากาศ เกษตรกรที่เลี้ยงแพะแบบพื้นบ้านมักไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องการจัดหาน้ำให้แพะกิน จึงทำให้มีปัญหาแพะเจ็บป่วยอยู่เสมอ สำหรับแร่ธาตุที่ให้แพะกิน ผู้เลี้ยงจะใช้แร่ธาตุก้อนสำเร็จที่มีขายอยู่ให้แพะกินก็ได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่าแร่ธาตุก้อนนั้นไม่ควรแข็งเกินไป ทั้งนี้เพราะลิ้นของแพะสั้นกว่าลิ้นของโค การเลียแร่ธาตุแต่ละครั้งจึงได้ปริมาณที่น้อย หากจะทำการผสมแร่ธาตุสำหรับเลี้ยงแพะเองก็สามารถทำได้ตามสูตรที่จะให้ต่อไปนี้ แต่การผสมแร่ธาตุเองมักมีปัญหาที่แร่ธาตุไม่เป็นก้อน จึงทำให้สิ้นเปลืองเพราะหกทิ้งมาก

              การดูแลสุขภาพแพะ

โรคพยาธิในแพะ

              พยาธิมีผลกระทบต่อการผลิตแพะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพบว่าพยาธิภายในเป็นตัวก่อปัญหากับการเลี้ยงมากกว่าพยาธิภายนอก ถ้าแพะมีพยาธิภายในจำนวนมากจะทำให้เกิดโรคเฉียบพลันมีความรุนแรงถึงตายได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยจะไม่ถึงตาย แต่ทำให้ผลผลิตลดลง เช่น เนื้อ นม นอกจากนี้ทำให้แพะอ่อนแอ เป็นโรคอื่น ๆ ได้ง่าย ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากผลผลิตที่ลดลงและเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถ่ายพยาธิด้วย มีแนวโน้มว่าพยาธิจะมีการดื้อยาขึ้น การใช้ยาจึงต้องไม่ใช้ยาชนิดเดียวกันทั้งปี พยาธิภายในแพะมีหลายชนิดด้วยกัน เกิดกับแพะทุกอุณหภูมิภาคที่เลี้ยงแพะ โดยเฉพาะในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด และพยาธิตัวแบน เป็นต้น ดังที่จะกล่าวในรายละเอียดให้เกษตรกรรู้จักดังต่อไปนี้

              พยาธิตัวกลม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือพยาธิตัวกลมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กได้แก่

              พยาธิเส้นลวด อยู่ในกระเพาะอาหารส่วนอโบมาซุ่มของแพะ เป็นพยาธิที่ทำอันตรายต่อสัตว์มากที่สุด ตัวผู้ยาว 10-20 มิลลิเมตร ตัวเมียยาว 18-30 มิลลิเมตร ตัวผู้มีสีแดง ส่วนตัวเมียมีสีแดงสลับขาว มีวงจรชีวิตคือเมื่อพยาธิตัวแก่ไข่ออกมาและแพะถ่ายอุจจาระออกมาไข่จะมีตัวอ่อนอยู่ภายในเมื่อตัวอ่อนฟักตัวออกมานอกไข่และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดโรคแล้ว แพะมากินเข้าไปจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอโบมาซุ่มดังกล่าว และภายใน 19 วัน ตัวอ่อนก็จะเจริญเป็นตัวแก่และเริ่มออกไข่ อันตรายที่เกิดกับแพะก็คือพยาธิชนิดนี้จะดูดเลือดทั้งเม็ดเลือดและโปรตีนในเลือด ทำให้แพะเกิดโลหิตจางและถ้ามีอาการรุนแรง แพะจะมีอาการบวมน้ำใต้คาง ใต้ท้อง และแพะจะไม่เจริญเติบโต น้ำหนักลดลง ท้องร่วง หรือท้องผูก ร่างกายอ่อนแอ ความต้านทานโรคต่ำและตายได้ อาการในลูกสัตว์จะเป็นแบบเฉียบพลัน เพราะการเสียเลือดอย่างรวดเร็ว โดยไม่แสดงอาการโลหิตจางให้เห็น

              นอกจากนี้ก็มีพยาธิเส้นด้ายที่อาศัยในลำไส้เล็ก มันจะแย่งอาหารทำให้ลำไส้เล็กอักเสบ แต่ความรุนแรงของพยาธินี้ไม่มากนัก และพยาธิเม็ดตุ่ม พบในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้อักเสบ แพะจะถ่ายเป็นมูกเหลว การจริญเติบโตลดลง ขนหยาบกระด้าง ท้องร่วง ผอมแห้งตาย บางครั้งอุจจาระมีเลือดปน

              พยาธิตัวตืด พบในลำไส้เล็กของแพะ มีความยาวถึง 600 เซนติเมตร กว้าง 1.6 เซนติเมตร วงจรชีวิตตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ จะเข้าไปอาศัยเจริญเติบโตในไร เมื่อแพะกินตัวไรที่มีพยาธินี้เข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในแพะภายใน 6-8 สัปดาห์ ลูกสัตว์ที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน จะติดโรคพยาธินี้ได้ง่าย และมีอาการรุนแรงมากกว่าแพะใหญ่ถ้าติดโรคพยาธินี้น้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้าติดพยาธิมากอาจตายได้

              พยาธิใบไม้ในตับ พบในตับและท่อน้ำดีของแพะ ขนาดตัวยาว 25-75 มิลลิเมตร กว้าง 12 มิลลิเมตร มีวงจรชีวิตคือตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่พยาธิจะเข้าไปเจริญเติบโตในหอยน้ำจืด ใช้เวลาเจริญเติบโตในหอย 4-7 สัปดาห์ กลายเป็นตัวอ่อนว่ายออกมาจากหอยมาเกาะวัชพืชน้ำ และกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดโรค รอให้แพะมากิน ความรุนแรงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นขณะที่ตัวอ่อนของพยาธิเดินทางไปที่ตับ จะเกิดโรค 2 ชนิดคือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดรุนแรง เนื้อตับจะถูกทำลายอย่างมาก มีเลือดตกในช่องท้อง ซึ่งมักพบในแกะ แพะที่ป่วยจะไม่อยากเคลื่อนไหว หายใจลำบาก แสดงอาการเจ็บปวดบริเวณท้องเมื่อถูกสัมผัส และพยาธินี้ทำให้การย่อยอาหารไม่ดี ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต เช่น เนื้อ และปริมาณนม เป็นต้น

              เชื้อบิด ระบาดทั่วไปในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะแพะที่เลี้ยงรวมกัน ภายในคอก หรือแปลงหญ้าขนาดเล็ก มักไม่ค่อยพบในแพะที่เลี้ยงปล่อย เชื้อฟักอาศัยในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ของแพะ ทำให้ลำไส้อักเสบ แพะจะแสดงอาการเบื่ออาหาร สุขภาพไม่สมบูรณ์ ท้องร่วง อุจจาระมีกลิ่นเหม็นแพะจะอ่อนเพลีย และถ้าไม่รักษาจะตายได้ อัตราการรอดตายจากโรคค่อนข้างสูง การป้องกันควรแยกแพะที่เป็นโรคออกจากฝูง ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารและรั้ว และพื้นคอกให้สะอาด

              การตรวจวินิจฉัยโรค โดยสังเกตดูอาการว่า แพะจะเบื่ออาหาร ซูบผอม ซึม ขนยุ่ง ท้องเสีย บวมใต้คาง ใต้ท้อง และจากการตรวจอุจจาระพบไข่หรือตัวอ่อนพยาธิซึ่งเกษตรกรควรติดต่อเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ตรวเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

ข้อแนะนำการป้องกันและควบคุมพยาธิภายในของแพะ

  1. ถ่ายพยาธิเป็นประจำตามโปรแกรม โดยถ่ายทุก 4-6 สัปดาห์ ยาถ่ายพยาธิที่ใช้ประกอบด้วย

-              ยาถ่ายพยาธิตัวกลม เช่น อัลเบนดาโซล, ไทอาเบ็นดาโซล,ไพแรนเทล,เลวามิซอล เป็นต้น

-              ยาถ่ายพยาธิตัวตืด เช่น นิโคลซาไมด์ เมเบนดาโซล เป็นต้น

-              ยาถ่ายพยาธิใบไม้ในตับ เช่น ราฟอกซาไนด์,ไนโตรไซนิล เป็นต้น

-              ยากำจัดเชื้อบิด เช่น โทลทราซูริล,ซัลฟาควินอกซาลีน เป็นต้น หรือถ้าพบมีปัญ-              หาพยาธิ

ภายในและเชื้อบิดร่วมกัน อาจใช้ยาทั้งสามชนิด และควรถ่ายทุก 4-6 สัปดาห์

สำหรับพยาธิตัวกลม ควรเริ่มถ่ายพยาธิครั้งแรกเมื่ออายุ 8 สัปดาห์

  1. ทำความสะอาดโรงเรือนแพะอย่างสม่ำเสมอ พื้นโรงเรือนแพะต้องเป็นแบบเว้นช่อง เพื่อให้อุจจาระ

ตกลงไปข้างล่าง และต้องล้อมรอบใต้ถุนไว้ไม่ให้แพะเข้าไปได้ มิฉะนั้นจะติดโรคพยาธิจากอุจจาระได้

  1. อุจจาระและสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ ให้ฝังหรือเผาทำลายให้หมด
  1. ใช้ระบบแปลงหญ้าหมุนเวียนโดยการแบ่งแปลงหญ้าออกเป็นแปลงย่อยแต่ละแปลงล้อมรั้วกั้นไว้

ปล่อยให้แพะเข้าแทะเล็มหญ้านานแปลงละ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นไปเลี้ยงแปลงอื่นต่อโดยจะต้องจัดการแปลงที่แพะเล็มแล้ว ด้วยการตัดหญ้าให้สั้นลงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน เพื่อให้ไข่และตัวอ่อนของพยาธิตาย และหญ้าเจริญงอกงามเร็ว สำหรับเลี้ยงแพะที่จะเข้ามาแทะเล็มใหม่ หมุนเวียนกันไปหรือวิธีจำกัดพื้นที่แทะเล็ม โดยการผูกล่ามแพะไม่ซ้ำที่เดิม

  1. ทำลายตัวนำกึ่งกลางของพยาธิ เช่น ไร และหอยน้ำจืด
  1. ไม่ควรให้แพะลงแปลงหญ้าชื้น ๆ แฉะ ๆ เพราะจะติดพยาธิได้ง่ายจากตัวอ่อนพยาธิที่อาศัยอยู่ได้

นานในแปลงหญ้าที่ชื้นนั้น

 

โรคติดเชื้อในแพะ

              สาเหตุของโรคในแพะอาจเนื่องมาจากอาหาร การจัดการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกวิธี ทำให้สัตว์เกิดความเครียด อ่อนแอ ไม่มีความต้านทานโรคพอ ผู้เลี้ยงแพะต้องทราบถึงสาเหตุและสันนิฐานได้ซึ่งจะช่วยในการรักษาและป้องกันการระบาดของโรคได้

              โดยให้สังเกตว่าแพะจะแสดงอาการหลายประการ เช่น การกินอาหารลดลงกว่าปกติ มีอาการไอ จาม ท้องเสีย ขนไม่เป็นเงา จมูกแห้ง ซึมหงอย เป็นต้น โรคที่เกิดในแพะที่ควรรู้จักมีดังต่อไปนี้

 

โรคปากเปื่อย

              เกิดจากเชื้อไวรัส อาการคือพบแผลนูนคล้ายหูด บริเวณริมฝีปาก รอบจมูก รอบตา บางครั้งลุกลามไปตามลำตัว ถ้าเป็นลูกสัตว์อาจตายเพราะกินอาหารไม่ได้ หรือตายแพะโรคปอดบวดแทรกซ้อน ถ้าเป็นแพะโต อาการไม่รุนแรงและแผลจะตกสะเก็ด แห้งไปเองภายในประมาณ 28 วัน

              การรักษา ใช้ยาสีม่วง (เจนเชี่ยนไวโอเลต) หรือทิงเจอร์ไอโอดีนทาแผล วันละ 1-2 ครั้ง

              การป้องกัน ในประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ถ้าพบแพะเป็นโรคนี้ให้รีบแยกตัวป่วยออกทันที และรักษาจนกว่าจะหายจึงนำเข้ารวมฝูงได้

 

โรคปากและเท้าเปื่อย

              เกิดจากเชื้อไวรัส อาการที่พบแพะจะซึม น้ำลายไหลยืด ไม่กินอาหาร บริเวณปากและแก้มบวมแดง มีเม็ดตุ่มใสเป็นแผลบริเวณกีบและเท้า แพะจะเดินขากะเผลก แสดงอาการเจ็บปวดและถ้าติดเชื้อโรคแทรกซ้อนอาจทำให้แพะตายได้ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายได้เองภายใน 21 วัน แพะที่ตั้งท้องอาจแท้งลูกได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มีทางรักษาโดยตรง การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดโดยการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และการกักกันแพะที่จะเข้ามาเลี้ยงใหม่เป็นเวลา 14 วัน ก่อนเข้าฝูง ที่สำคัญมากคือการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียทำให้เป็นหนองที่แผล เม็ดตุ่มพองแตกออกและจะหายช้ามากหรืออาจลุกลามเกิดเลือดเป็นพิษถึงตายได้ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายได้เองภายใน 21 วัน

              ผู้เลี้ยงอาจทราบว่าแพะเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ โดยสังเกตดูจากอาการเจ็บปาก แผลเม็ดตุ่ม น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร ขากะเผลกไม่เดิน

              การรักษา ใช้ยาสีม่วง (เจนเชี่ยนไวโอเลต) ทาที่แผลที่ปากและกีบ หัวนม วันละครั้ง และฉีดยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้ควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์

              การป้องกัน

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยปีละ 1 ครั้ง
  1. กักแพะที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นเวลา 14 วัน จนแน่ใจว่าไม่เป็นโรคแล้วจึงนำเข้ารวมฝูง

 

โรคมงคล่อพิษเทียม

              โรคนี้ติดต่อถึงคนได้เช่นกัน และพบว่าจนถึงปัจจุบันมีคนเป็นโรคนี้กันมากแล้ว ผู้เลี้ยงแพะจึงควรทราบจะได้ระมัดระวังไว้ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยการกินเชื้อซึ่งอยู่ในดิน น้ำ อาหาร และหญ้า และติดต่อได้โดยการสัมผัสทางบาดแผล อาการที่พบในแพะคือ ซูบผอมลง อ่อนเพลีย ซึม เบื่ออาหาร ซีด ดีซ่าน มีไข้ มีน้ำมูก ข้อขาหน้าบวม ชักและตาย เมื่อผ่าซากแพะจะพบฝีมากมายตามอวัยวะภายใน เช่น ปอด ม้าม ไต ตับ ใต้ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง และข้ออักเสบมีหนอง เชื้อนี้มักดื้อยา การรักษาไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นควรทำลายและกำจัดซากโดยการเผา ไม่ควรนำซากแพะมาบริโภคโดยเด็ดขาด การป้องกันและควบคุมโรคต้องกำจัดซากแพะทันที ควรตรวจเลือดแพะทุกตัวทุก ๆ 1 ปี ถ้าพบเป็นโรคให้กำจัดออกจากฝูงและทำลาย

              การรักษา ไม่แนะนำให้รักษาควรกำจัดออกจากฝูง เพราะโรคนี้รักษาหายยากและติดต่อถึงคนได้

              การป้องกัน

  1. กำจัดแพะป่วย และทำลายซากห้ามนำมาบริโภค
  1. ตรวจสุขภาพแพะ โดยเจาะเลือดส่งห้องปฏิบัติการทุก ๆ 2 ปี
  1. ตรวจเลือดแพะทุกตัวที่นำเข้ามาใหม่ ถ้าพบให้ทำลายทิ้ง

 

โรคปอดบวม

              โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เป็นได้กับแพะทุกอายุ พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะแพะที่อ่อนแอและไม่เคยถ่ายพยาธิ พบภาวะโรคนี้บ่อย ๆ ในฤดูฝนเชื้อติดต่อได้รวดเร็ว โดยการกินเชื้อที่มีอยู่ในน้ำ อาหาร หายใจเชื้อที่มีในอากาศ การอยู่รวมฝูงกับแพะป่วยด้วยโรคนี้ อาการของแพะที่ป่วยได้แก่ มีไข้ จมูกแห้งมีน้ำมูก หอบ หายใจเสียงดัง ไอ ถ้าเป็นเรื้อรังแพะจะแคระแกรน อ่อนแอ แพะป่วยจะตายถึง 60-90 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะแพะที่มีพยาธิมาก และลูกแพะหลังหย่านมใหม่จะตายมากที่สุด

              การรักษา โดยฉีดยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน อ๊อกซิเตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนนิคอล อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลา 3-5 วัน ติดต่อกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นควรปรึกษาสัตว์แพทย์ในการรักษา โรคนี้ป้องกันได้โดยจัดการโรงเรือนให้สะอาด พื้นคอกแห้ง อย่าให้ฝนสาดหรือลมโกรกแพะ และควรยกพื้นโรงเรือนประมาณ 1-1.5 เมตร แพะป่วยให้แยกขังไว้ในคอกสัตว์ป่วยต่างหาก จนกว่าจะหายดีแล้วค่อยนำเข้ารวมฝูงเดิมใหม่ นอกจากนี้ควรถ่ายพยาธิแพะเป็นประจำตามโปรแกรมทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้แพะแข็งแรงและควรดูแลแพะหลังหย่านมเป็นพิเศษด้วยการเสริมอาหารที่มีคุณภาพดี

 

โรคแท้งติดต่อ

              เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพะจะแท้งในช่วงลูกอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่ไม่ค่อยเกิดโรคนี้บ่อย โรคนี้ติดต่อถึงคนได้ จึงต้องระวังในการดื่มนมแพะ อาการของแพะสังเกตยาก ต้องตรวจจากเลือดเท่านั้น ดังนั้นควรได้มีการตรวจสุขภาพแพะเป็นประจำ โดยการตรวจเลือดปีละ 1 ครั้ง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ทำลายแพะที่เป็นโรค และไม่คัดเลือกแพะที่พ่อ-แม่พันธุ์เคยมีประวัติเป็นโรคมาเลี้ยง

โรคไข้นม

              โรคนี้เกิดในระยะที่แพะใกล้คลอด หรือขณะที่กำลังอยู่ในระยะให้นม สาเหตุเกิดจากแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม อาการของแพะที่เป็นโรคไข้นมคือ ตื่นเต้นตกใจง่าย การทรงตัวไม่ดี กล้ามเนื้อเกร็ง นอนตะแคงและคอบิด ซีด หอบ อ่อนเพลีย ถ้าเป็นมากรักษาไม่ทันก็ถึงตายได้

              การรักษา ให้รีบติดต่อสัตวแพทย์ในท้องที่มารักษา การป้องกันโดยการเพิ่มอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมในช่วงที่แพะคลอดและให้นม

 

โรคขาดแร่ธาตุ

              มักเกิดกับแพะเพศเมีย โดยที่แพะไม่ได้รับแร่ธาตุหรืออาหารข้นเสริมในภูมิประเทศที่มีแร่ธาตุในดินต่ำจะพบแพะป่วยด้วยโรคนี้มาก สาเหตุเกิดจากขาดแร่ธาตุหลัก ได้แก่ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม เป็นต้น อาการที่พบแพะแสดงอาการอ่อนแอ คอเอียง เดินหมุนเป็นวงกลม ล้มลงนอนตะแคง ท้องอืด และตายใน 2-3 วัน การรักษาทำได้โดยการให้อาหารข้นและแร่ธาตุแก่แพะเลียกิน ให้วิตามินและแร่ธาตุโดยการฉีด การป้องกันโดยผู้เลี้ยงควรตั้งแร่ธาตุไว้ในโรงเรือนให้แพะได้เลียกินตลอดเวลา

 

โรคท้องอืด

              เกิดจากกินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรืออาหารข้นที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป (เกิน 3 % ของน้ำหนักตัว) หรือการที่แพะป่วยและนอนตะแคงด้านซ้าย การแก้ไขผู้เลี้ยงแพะต้องเจาะท้องเอาแก๊สออก และกระตุ้นให้แพะลุกขึ้นเดิน

 

การตัดแต่งกีบ

              การตัดแต่งกีบเป็นงานประจำที่ผู้เลี้ยงแพะจำต้องปฏิบัติในการเลี้ยงแพะ การตัดแต่งกีบจะช่วยป้องกันไม่ให้ปลายกีบงอกผิดปกติและป้องกันไม่ให้กีบเน่าเนื่องจากมูลสัตว์เข้าไปติดอยู่ในกีบที่ไม่ได้ทำการแต่งการตัดแต่งกีบจะใช้มีดสำหรับแต่งกีบหรือใช้กรรไกรตัดกีบทำการตัดแต่งกีบก็ได้

              การตัดแต่งกีบควรทำในขณะที่อากาศเย็นชื้น ทั้งนี้เพราะกีบจะอ่อนตัวทำให้ตัดแต่งได้ง่าย ถ้าหากจะทำในวันที่อากาศร้อน ควรนำแพะไปยืนในที่เปียกชื้นสักครู่หนึ่งก่อนทำการตัดแต่งกีบ ผู้ทำการตัดแต่งกีบจะต้องจับขาของแพะให้แน่น โดยยกขาขึ้นแล้วใช้ระหว่างขาหนีบ (ใช้ด้านข้างช่วงเข่าหนีบ) จากนั้นใช้มีดแต่งกีบตัดกีบช่วงที่ยาวออกเกินจากรูปลักษณะปกติทิ้ง การตัดแต่งกีบทำทั้งด้านนอกและระหว่างร่องกีบ สำหรับพื้นของเท้าควรตัดกีบให้เสมอกับพื้นเท้าเท่านั้น การตัดแต่งกีบที่ดีควรทำแล้ว มีรูปร่างคล้ายกับกีบเท้าของลูกแพะที่เกิดใหม่ การตัดแต่งกีบควรทำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

 

เอกสารอ้างอิง

สุรพล  ชลดำรงค์กุล,2526 (พิมพ์ครั้งที่ 1 ) 2528 (พิมพ์ครั้งที่ 2) 2530 (พิมพ์ครั้งที่ 3) โรคสัตว์เศรษฐกิจ ISBN

              974-87530-6-9.231 หน้า

 

สุรพล  ชลดำรงค์กุล.2535. ยาและการใช้ยาสัตว์.2528 หน้า

 

สุรพล  ชลดำรงค์กุล.2537. สุขศาสตร์สัตว์เศรษฐกิจ. (ISBN 974-605-857-6). 295 หน้า