Custom Search

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เส้น

เส้น คือ ร่องรอยที่เกิดจากเคลื่อนที่ของจุด  หรือถ้าเรานำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ กันไป


  ก็จะเกิดเป็นเส้นขึ้น  เส้นมีมิติเดียว  คือ  ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขต
  ของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก  สี   ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ  รวมทั้งเป็นแกนหรือ
  โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง
        เส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดง
  ความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง และด้วยการสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ ขึ้น  เส้นมี 2
  ลักษณะคือ เส้นตรง   (Straight Line) และ เส้นโค้ง   (Curve Line)  เส้นทั้งสองชนิดนี้
  เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ และให้ความหมาย ความรู้สึก
  ที่แตกต่างกันอีกด้วย


    ลักษณะของเส้น
    1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง  ให้ความรู้สึกทางความสูง  สง่า  มั่นคง  แข็งแรง  หนักแน่น
  เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อตรง
    2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย
    3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง
    4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็น
   จังหวะ  มีระเบียบ  ไม่ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง
    5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ
  อ่อนโยน นุ่มนวล
    6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่
  หมุนวนออกมา ถ้ามองเข้าไปจะเห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด


    7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง  การเปลี่ยนทิศทาง
  ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง
    8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง  ขาด  หาย  ไม่ชัดเจน  ทำให้เกิดความเครียด

    ความสำคัญของเส้น
    1. ใช้ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วน
    2. กำหนดขอบเขตของที่ว่าง หมายถึง  ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง (Shape) ขึ้นมา
    3. กำหนดเส้นรอบนอกของรูปทรง ทำให้มองเห็นรูปทรง (Form) ชัดขึ้น
    4. ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ ของแสดงและเงา หมายถึง การแรเงาด้วยเส้น
    5. ให้ความรู้สึกด้วยการเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูป และโครงสร้างของภาพ

 สีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต  ซึ่งมนุษย์รู้จัก    สามารถ


นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์       ในอดีตกาล
มนุษย์ได้ค้นพบสีจากแหล่งต่าง ๆ  จากพืช  สัตว์  ดิน และแร่ธาตุนานาชนิด จากการ
ค้นพบสีต่าง ๆ เหล่านั้น มนุษย์ได้นำเอาสีต่าง         มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
โดยนำมาระบายลงไปบนสิ่งของ     ภาชนะเครื่องใช้       หรือระบายลงไปบนรูปปั้น
รูปแกะสลัก เพื่อให้รูปเด่นชัดขึ้น มีความเหมือนจริงมากขึ้น   รวมไปถึงการใช้สีวาด
ลงไปบนผนังถ้ำ  หน้าผา   ก้อนหิน  เพื่อใช้ถ่ายทอดเรื่องราว       และทำให้เกิดความ
รู้สึกถึงพลังอำนาจที่มีอยู่เหนือสิ่งต่าง     ทั้งปวง              การใช้สีทาตามร่างกายเพื่อ
กระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม เกิดพลังอำนาจ   หรือใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในการถ่ายทอด


ความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
             ในสมัยเริ่มแรก มนุษย์รู้จักใช้สีเพียงไม่กี่สี  สีเหล่านั้นได้มาจากพืช สัตว์ ดิน
แร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงขี้เถ้า   เขม่าควันไฟ  เป็นสีที่พบทั่วไปในธรรมชาติ นำมาถู  ทา
ต่อมาเมื่อทำการย่างเนื้อสัตว์  ไขมัน  น้ำมัน     ที่หยดจากการย่างลงสู่ดินทำให้ดินมี
สีสันน่าสนใจ สามารถนำมาระบายลงบนวัตถุและติดแน่นทนนาน  ดังนั้นไขมันนี้
จึงได้ทำหน้าที่เป็นส่วนผสม (binder)   ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นสารชนิดหนึ่ง
ที่เป็นส่วนประกอบของสี          ทำหน้าที่เกาะติดผิวหน้าของวัสดุที่ถูกนำไปทาหรือ
ระบาย   นอกจากไขมันแล้วยังได้นำไข่ขาว     ขี้ผึ้ง (Wax)    น้ำมันลินสีด (Linseed)


กาวและยางไม้  (Gum arabic)   เคซีน (Casein: ตะกอนโปรตีนจากนม)      และสาร
พลาสติกโพลีเมอร์  (Polymer)     มาใช้เป็นส่วนผสม ทำให้เกิดสีชนิดต่าง ๆ ขึ้นมา
องค์ประกอบของสี แสดงได้ดังนี้

                                  เนื้อสี (รงควัตถุ)      +     ส่วนผสม    =    สีชนิดต่าง ๆ
                                         (Pigment)                      (Binder)              Colour

         ในสมัยต่อมา เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้น      เกิดคตินิยมในการรับรู้ และชื่นชมใน
ความงามทางสุนทรียศาสตร์  (Aesthetics)   สีได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง   และวิจิตรพิสดาร
จากเดิมที่เคยใช้สีเพียงไม่กี่สี ซึ่งเป็นสีตามธรรมชาติ  ได้นำมาซึ่งการประดิษฐ์ คิดค้น และผลิต
สีใหม่ ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก     ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความงามอย่างไม่มีขีดจำกัด   โดยมี
การพัฒนามาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง


ที่มาของสี
       สีที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วไป ได้มาจาก
      1  สสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และนำมาใช้โดยตรง หรือด้วยการสกัด  ดัดแปลงบ้าง จากพืช
สัตว์  ดิน แร่ธาตุต่าง ๆ
      2  สสารที่ได้จากการสังเคราะห์ซึ่งผลิตขึ้นโดยกระบวนการทางเคมี เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้น
เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ สะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสีที่เราใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
      3  แสง เป็นพลังงานชนิดเดียวที่ให้สี โดยอยู่ในรูปของรังสี (Ray) ที่มีความเข้มของแสง
อยู่ในช่วงที่สายตามองเห็นได้

ค่าน้ำหนัก    คือ   ค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่าง และบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุหรือ ความอ่อน- ความเข้ม
ของสีหนึ่ง ๆ หรือหลายสี เช่น สีแดง มีความเข้มกว่าสีชมพู   หรือ  สีแดงอ่อนกว่าสีน้ำเงิน  เป็นต้น
นอกจากนี้ยังหมายถึงระดับความเข้มของแสงและระดับ ความมืดของเงา ซึ่งไล่เรียงจากมืดที่สุด (สีดำ)ไปจนถึงสว่างที่สุด (สีขาว) 
น้ำหนักที่อยู่ระหว่างกลางจะเป็นสีเทา ซึ่งมีตั้งแต่เทาแก่ที่สุด จนถึงเทาอ่อนที่สุด    
การใช้ค่าน้ำหนักจะทำให้ภาพดูเหมือนจริง และมีความกลมกลืน ถ้าใช้ค่าน้ำหนักหลาย ๆ  ระดับ
จะทำให้มีความกลมกลืนมากยิ่งขึ้น และถ้าใช้ค่าน้ำหนักจำนวนน้อยที่แตกต่างกันมาก
จะทำให้เกิด ความแตกต่าง ความขัดแย้ง

 

 




 

      แสงและเงา (Light & Shade) เป็นองค์ประกอบของศิลป์ที่อยู่คู่กัน
   แสง เมื่อส่องกระทบ กับวัตถุ จะทำให้เกิดเงา   แสงและเงา 
  เป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนัก  ความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่
   กับความเข้มของเแสง  ในที่ที่มีแสงสว่างมาก เงาจะเข้มขึ้น  
   และในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เงาจะไม่ชัดเจน ในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง
  จะไม่มีเงา และเงาจะอยู่ในทางตรงข้ามกับแสงเสมอ  ค่าน้ำหนัก
   ของแสงและเงานที่เกิดบนวัตถุ     สามารถจำแนกเป็นลักษณะที่
  ต่าง ๆ ได้ดังนี้

    1. บริเวณแสงสว่างจัด  (Hi-light)  เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด   จะมี
  ความสว่างมากที่สุด ในวัตถุที่มีผิวมันวาวจะสะท้อนแหล่งกำเนิดแสงออกมาให้เห็นได้ชัด


    2. บริเวณแสงสว่าง  (Light) เป็นบริเวณที่ได้รับแสงสว่าง รองลงมาจากบริเวณแสงสว่าง
  จัด เนื่องจากอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงออกมา และเริ่มมีค่าน้ำหนักอ่อน
    3. บริเวณเงา (Shade)  เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับแสงสว่าง     หรือเป็นบริเวณที่ถูกบดบังจาก
  แสงสว่าง ซึ่งจะมีค่าน้ำหนักเข้มมากขึ้นกว่าบริเวณแสงสว่าง
    4. บริเวณเงานเข้มจัด (Hi-Shade) เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด หรือ
  เป็นบริเวณที่ถูกบดบังมาก ๆ หลาย ๆ ชั้น จะมีค่าน้ำหนักที่เข้มมากไปจนถึงเข้มที่สุด
    5. บริเวณเงาตกทอด เป็นบริเวณของพื้นหลังที่เงาของวัตถุทาบลงไป เป็นบริเวณเงาที่อยู่
  ภายนอกวัตถุ และจะมีความเข้มของค่าน้ำหนักขึ้นอยู่กับ ความเข้มของเงา น้ำหนักของพื้น
  หลัง ทิศทางและระยะของเงา

    ความสำคัญของค่าน้ำหนัก
    1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปและพื้น หรือรูปทรงกับที่ว่าง
    2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว
    3. ให้ความรู้สึกเป็น 2 มิติ แก่รูปร่าง และความเป็น 3 มิติแก่รูปทรง
    4. ทำให้เกิดระยะความตื้น - ลึก และระยะไกล้ - ไกลของภาพ
    5. ทำให้เกิดความกลมกลืนประสานกันของภาพ


รูปร่าง (Shape) คือ รูปแบน ๆ มี 2 มิติ มีความกว้างกับความยาว
    ไม่มีความหนาเกิดจากเส้นรอบนอกที่แสดงพื้นที่ขอบเขต
    ของรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม  รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระ
     ที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบมากกว่าแสดงปริมาตรหรือมวล
     รูปทรง (Form) คือ รูปที่ลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดง
    ความกว้าง   ความยาวแล้ว ยังมีความลึก หรือความหนา นูน ด้วย
    เช่น รูปทรงกลม  ทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก เป็นต้น
   ให้ความรู้สึกมีปริมาตร  ความหนาแน่น มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้
   ค่าน้ำหนัก หรือการจัดองค์ประกอบของรูปทรง หลายรูปรวมกัน



             รูปร่างและรูปทรง เป็นรูปธรรมของงานศิลปะ    ที่ใช้สื่อเรื่องราวจากงานศิลปะไปสู่ผู้ชม        
รูปร่างและรูปทรงที่มีอยู่ในงานศิลปะมี  3  ลักษณะ คือ        

   รูปเรขาคณิต (Geometric Form) มีรูปที่แน่นอน มาตรฐาน สามารถวัดหรือ
   คำนวณได้ง่าย มีกฎเกณฑ์ เกิดจากการสร้างของมนุษย์ เช่น รูปสี่เหลี่ยม
   รูปวงกลม รูปวงรี นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปทรงของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้น
  ขึ้นอย่างมีแบบแผน  แน่นอน  เช่น รถยนต์   เครื่องจักรกล   เครื่องบิน 
  สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ    ที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม ก็จัดเป็นรูปเรขาคณิต
   เช่นกัน รูปเรขาคณิตเป็นรูป  ที่ให้โครงสร้างพื้นฐานของรูปต่าง ๆ ดังนั้น
   การสร้างสรรค์รูปอื่น ๆ   ควรศึกษารูปเรขาคณิตให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน

  รูปอินทรีย (Organic Form) เป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิต หรือ คล้ายกับสิ่งมีชีวิต
   ที่สามารถ  เจริญเติบโต  เคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนแปลงรูปได้  เช่น
   รูปของคน  สัตว์  พืช

  รูปอิสระ (Free Form) เป็นรูปที่ไม่ใช่แบบเรขาคณิต หรือแบบอินทรีย์ 
   แต่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพล
   และการกระทำจากสิ่งแวดล้อม  เช่น รูปก้อนเมฆ  ก้อนหิน  หยดน้ำ ควัน
   ซึ่งให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหว มีพลัง รูปอิสระจะมีลักษณะ ขัดแย้งกับ
   รูปเรขาคณิต แต่กลมกลืน กับรูปอินทรีย์  รูปอิสระอาจเกิดจากรูปเรขาคณิต
   หรือรูปอินทรีย์ ที่ถูกกระทำ   จนมีรูปลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจน
   ไม่เหลือสภาพ เช่น รถยนต์ที่ถูกชนจนยับเยินทั้งคัน  เครื่องบินตก 
   ตอไม้ที่ถูกเผาทำลาย หรือซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพัง

  


       ความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง
    เมื่อนำรูปทรงหลาย ๆ รูปมาวางใกล้กัน  รูปเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์ดึงดูด  หรือผลักไส
  ซึ่งกันและกัน  การประกอบกันของรูปทรง อาจทำได้โดย ใช้รูปทรงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
  รูปทรงที่ต่อเนื่องกัน รูปทรงที่ซ้อนกัน รูปทรงที่ผนึกเข้าด้วยกัน รูปทรงที่แทรกเข้าหากัน
  รูปทรงที่สานเข้าด้วยกัน หรือ รูปทรงที่บิดพันกัน      การนำรูปเรขาคณิต รูปอินทรีย์ และรูป
  อิสระมาประกอบเข้าด้วยกัน จะได้รูปลักษณะใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
 


พื้นผิว หมายถึง ลักษณะของบริเวณผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อสัมผัสแล้วสามารถ


  รับรู้ได้ ว่ามีลักษณะอย่างไร คือรู้ว่า หยาบ ขรุขระ เรียบ มัน ด้าน เนียน สาก  เป็นต้น
  ลักษณะที่สัมผัสได้ของพื้นผิว มี  2  ประเภท คือ
   
   1. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยมือ หรือกายสัมผัส เป็นลักษณะพื้นผิวที่เป็นอยู่จริง ๆ ของ
  ผิวหน้าของวัสดุนั้น ๆ   ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากงานประติมากรรม งานสถาปัตกรรม
  และสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ
    2. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จากการมองเห็นแต่ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของผิว
  วัสดุนั้น ๆ เช่น การวาดภาพก้อนหินบนกระดาษ   จะให้ความรู้สึกเป็นก้อนหินแต่


  มือสัมผัสเป็นกระดาษ  หรือใช้กระดาษพิมพ์ลายไม้ หรือลายหินอ่อน  เพื่อปะ  ทับ
  บนผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่า    เป็นการสร้างพื้นผิวลวงตา
  ให้สัมผัสได้ด้วยการมองเห็นเท่านั้น
   
     พื้นผิวลักษณะต่าง ๆ จะให้ความรู้สึกต่องานศิลปะที่แตกต่างกัน พื้นผิวหยาบจะ
  ให้ความรู้สึกกระตุ้นประสาท หนักแน่น มั่นคง แข็งแรง ถาวร    ในขณะที่ผิวเรียบ
  จะให้ความรู้สึกเบา สบาย การใช้ลักษณะของพื้นผิวที่แตกต่างกัน  เห็นได้ชัดเจน
  จากงานประติมากรรม และมากที่สุดในงานสถาปัตยกรรมซึ่งมีการรวมเอาลักษณะ
  ต่าง ๆ กันของพื้นผิววัสดุหลาย ๆ อย่าง   เช่น อิฐ  ไม้ โลหะ  กระจก  คอนกรีต หิน
  ซึ่งมีความขัดแย้งกันแต่สถาปนิกได้นำมาผสมกลมกลืนได้อย่างเหมาะสม ลงตัวจน
  เกิดความสวยงาม 



 

การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ  เป็น หลักสำคัญสำหรับผู้สร้างสรรค์ และผู้ศึกษางานศิลปะ
  เนื่องจากผลงานศิลปะใด ๆ ก็ตาม ล้วนมีคุณค่าอยู่  2  ประการ คือ คุณค่าทางด้านรูปทรง และ คุณค่าทางด้านเรื่องราว
   คุณค่าทางด้านรูปทรง เกิดจากการนำเอา องค์ประกอบต่าง ๆ    ของ ศิลปะ อันได้แก่  เส้น  สี  แสงและเงา  รูปร่าง  รูปทรง  พื้นผิว  ฯลฯ
   มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความงาม  ซึ่งแนวทางในการนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาจัดรวมกันนั้น
เรียกว่า การจัดองค์ ประกอบศิลป์ (Art Composition) โดยมีหลักการจัดตามที่จะกล่าวต่อไป 
อีกคุณค่าหนึ่งของงานศิลปะ คือ คุณค่าทางด้านเนื้อหา เป็นเรื่องราว หรือสาระของผลงานที่ศิลปินผู้สร้าง สรรค์
ต้องการที่จะแสดงออกมา ให้ผู้ชมได้สัมผัส รับรู้  โดยอาศัยรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบศิลป์นั่นเอง
หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปิน นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวผ่านรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ
   ถ้าองค์ประกอบที่จัดขึ้น ไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอ งานศิลปะนั้นก็จะขาดคุณค่าทางความงามไป 
ดังนั้นการจัดองค์ประกอบศิลป์   จึงมีความสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะทำให้งานศิลปะทรงคุณค่าทางความงามอย่างสมบูรณ์

 




    การจัดองค์ประกอบของศิลปะ มีหลักที่ควรคำนึง
   อยู่ 5 ประการ คือ
 1.  สัดส่วน (Proportion)
 2. ความสมดุล (Balance)
 3. จังหวะลีลา (Rhythm)
 4. การเน้น (Emphasis)
 5. เอกภาพ (Unity)


สัดส่วน หมายถึง  ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างขนาดของ
 องค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง
 ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย     ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่
 มากไม่น้อย ขององค์ประกอบทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ
 พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้




    1.1  สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์  พืช ซึ่งโดยทั่วไป
 ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ  จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด      หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ
 สร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า
 "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า  ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม"  ทำให้สิ่งต่าง ๆ
 ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว




    1.2  สัดส่วนจากความรู้สึก    โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง
 อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึง  เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย  สัดส่วนจะช่วย
 เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่น
 นี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ
 ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น   กรีก    นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น
 อุดมคติ เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง    จึงแสดงถึงความเหมือน
 จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกันดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น
 รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป


  การเน้น หมายถึง  การกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา 
ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ   เป็นประธานอยู่
ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ  และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน  ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆ
ที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสีย
งานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน  จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกัน
โดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ
ดังนั้น  ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ 
ซึ่งจะทำให้ผลงานมีความงาม สมบูรณ์ ลงตัว และน่าสนใจมากขึ้น การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้  3  วิธี คือ

 

  1. การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน (Emphasis by Contrast) สิ่งที่แปลกแตก


  ต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน จะเป็นจุดสนใจ ดังนั้น การใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะ
  แตกต่าง หรือขัดแย้ง กับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้อง
  พิจารณาลักษณะความแตกต่างที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในส่วนรวม
  และทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่  โดยต้องคำนึงว่า แม้มีความขัดแย้ง แตก
  ต่างกันในบางส่วน และในส่วนรวมยังมีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน

  2. การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation)  เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยก
  ออกไปจากส่วนอื่น ๆ ของภาพ หรือกลุ่มของมัน สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดสนใจ   เพราะเมื่อ
  แยกออกไปแล้วก็จะเกิดความสำคัญขึ้นมา   ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่าง    ที่ไม่ใช่แตก
  ต่างด้วยรูปลักษณะ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งที่จัดวาง  ซึ่งในกรณีนี้ รูปลักษณะนั้นไม่


  จำเป็นต้องแตกต่างจากรูปอื่น   แต่ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป    จึงกลายเป็น
  จุดสนใจขึ้นมา

  3. การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่น ๆ
  ชี้นำมายังจุดใด ๆ จุดนั้นก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา     และการจัดวางตำแหน่งที่
  เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้เช่นกัน

    พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้อง
  ระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมา
  ดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน  การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์
  ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น  สี แสง-เงา  รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว
  ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์


จังหวะลีลา  หมายถึง  การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ
เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้น
จนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ  โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ
  หรือเกิดจาก การเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก





        รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย  การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ   กันทำให้เกิดจังหวะ
  และถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกันออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย
  ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย  แต่จังหวะของลายเป็นจังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ
  รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน
  แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน
  สัตว์  การเติบโตของพืช  การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล
  ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย


   


  เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ
ที่ตายตัว  แต่งานศิลปะแต่ละชิ้นจะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งาน
ศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน   ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
งานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง ไม่ต่าง
อะไรกับลวดลายที่มองเห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตา
แก่ผู้ชม 

 


ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ  ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง 
ในทางศิลปะยังรวมถึงความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ
ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ   ลงใน งานศิลปกรรมนั้น
จะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น   ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน
    ฉะนั้น  ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป  หรือ เบา  บางไป
ก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง   และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม 
ดุลยภาพในงานศิลปะ มี  2 ลักษณะ คือ





  1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน
  คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล    เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน
  ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ
  ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ


  2. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือน


  กัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์   ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่
  เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน  แต่มีความสมดุลกัน   อาจเป็นความสมดุลด้วย
  น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้  การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ
  สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย    เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า   หรือ
  เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน  จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาด
  เล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา