ประวัติความเป็นมาของละครไทย
ละครไทยมีประวัติความเป็นมาในแต่ละสมัย ดังนี้
1)สมัยก่อนสุโขทัย มีหลักฐานว่าในสมัยโบราณก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี บริเวณที่เป็นในประเทศโทยในปัจจุบันการแสดงมาแล้ว สันนิษฐานว่าเรื่องแรกๆที่นำมา
ใช้ในการแสดงน่าจะเป็นละครเรื่องมโนห์รา
2) สมัยสุโขทัย มีการแสดงละครแก้บน และมีการแสดงละครเรื่องมโนห์ราสืบต่อกันมาจากสมัยก่อนน่านี้
3) สมัยอยุธยา มีละครเกิดขึ้น 3 ชนิด คือ ละครชาตรี ละครนอก ละครใ สำหรับละครในสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในระหว่างรัชกาลสมเด็จเทพราชา และรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวบรมโกศ
4) สมัยกรุงธนบุรี มีละครของเอกชนขึ้นหลายโรง นอกจากนี้ยังมีละครขณะผู้หญิงของเจ้าละครศรีธรรมราชที่นำมาแสดงในราชสำนักธนบุรีด้วย
5) สมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะโขน ละคร ฟ้อนรำ เจริญรุ่งเรีองมาในราชการที่2 และในสมัยราชการลที่ 6 ซึ่งในสมัยราชการลที่ 6 นี้ พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น
ต่อมาในสมัยราชกาลที่ 7 ได้มีการโอนศิลปินมาสังกัดกรมศิลปากร จนในปัจจุบันได้มีสถานการศึกษาหลายแห่งเป็นสถานที่ผลิตครูและนักศึกษาทางศิลปะการแสดง
ในสาขาต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมากทั้งโขน ละคร ฟ้อน รำ
ละครดึกดำบรรพ์
ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว. หลาน กุญชร ) โดยแสดง ณ โรงละครของท่านที่ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมละครโอเปร่า (Opera) ซึ่งท่านชื่นชมการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย จึงเล่าถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็โปรดเห็นว่าดี ในการสร้างละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้ นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บท และทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
- หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรี และปี่พาทย์
- หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุง ประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบท และลำนำทำนองเพลง
ละครดึกดำบรรพ์ได้ออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ละครดึกดำบรรพ์ได้รับความนิยมตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วยถวายบังคมลาออกจากราชการ ทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดงรวมระยะเวลา ๑๐ ปี
ผู้แสดง
ใช้ผู้หญิงล้วน ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้แสดงละครดึกดำบรรพ์จะต้องมีความสามารถพิเศษด้วยคุณสมบัติ คือ
- เป็นผู้ที่มีเสียงดี ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะ
- เป็นผู้ที่มีรูปร่างงาม รำสวย ยิ่งผู้ที่จะแสดงเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยแล้ว ต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก
การแต่งกาย
เหมือนอย่างละครในที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง" นอกจากบางเรื่องที่ดัดแปลงเพื่อความเหมาะสม และให้ตรงกับความเป็นจริง
เรื่องที่แสดง
ที่เป็นบทละครบางเรื่อง และบางตอน พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี ตอนสามหึง เรื่องอิเหนา ตอนไหว้พระ เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคต้น เรื่องกรุงพานชมทวีป เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุฑ เรื่องมณีพิชัย
- บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เรื่องศกุนตลา เรื่องท้าวแสนปม เรื่องพระเกียรติรถ
- บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ได้แก่ เรื่องสองกรวรวิก เรื่องจันทกินรี เรื่องพระยศเกตุ
การแสดง
จะผิดแปลกจากละครแบบดั้งเดิม เพราะผู้แสดงต้องร้องเองรำเอง ไม่มีบรรยายกิริยาของตัวละคร ได้มีการปรับปรุงการแสดงความเป็นไปในเนื้อเรื่องของละครดึกดำบรรพ์ พยายามแสดงให้สมจริงสมจังมากที่สุด มีการตกแต่งฉาก และสถานที่ ใช้แสง สี เสียง ประกอบฉาก นับเป็นต้นแบบในการจัดฉากประกอบการแสดงของโขน - ละครต่อมา การแสดงมักแสดงตอนสั้นๆให้ผู้ชมละครชมแล้วอยากชมต่ออีกดนตรี
ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อความไพเราะนุ่มนวล โดยการผสมวงดนตรีขึ้นใหม่ และคัดเอาสิ่งที่มีเสียงแหลมเล็กหรือดังมากๆออกเหลือไว้แต่เสียงทุ้ม ทั้งเพิ่มเติมสิ่งที่เหมาะสมเข้ามา เช่น ฆ้องหุ่ยมี ๗ ลูก ๗ เสียง ต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์"
เพลงร้อง
นำมาจากบทละคร โดยปรับปรุงหลายอย่าง คือ
- ตัดคำว่า "เมื่อนั้น" "บัดนั้น" เมื่อจะกล่าวถึงใครออก โดยให้ตัวละครรำใช้บทเพื่อให้เข้าใจว่าใครเป็นผู้พูด
- คัดเอาแต่บทเจรจาไว้ โดยยกบทเจรจามาร้องรำ ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกันเอง
- ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาของตัวละครว่า จะนั่ง จะเดินซ้ำอีก ทำให้ผู้แสดงไม่เคอะเขิน
- บรรยายภาพไว้ในบทร้อง ประกอบศิลปะการรำ
- ไม่มีคำบรรยาย
- บทโต้ตอบ ทุ่มเถียง วิวาท ใช้บทเจรจาเป็นกลอนแทน และเจรจาเหมือนจริง
- มีการนำทำนองเสนาะในการอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้
- มีการนำเพลงพื้นเมือง เพลงชาวบ้าน การละเล่นของเด็กมาใช้
- มีการเจรจาแทรกบทร้องโดยรักษาจังหวะตะโพนให้เข้ากับบทร้อง และอื่นๆ
สถานที่แสดง
มักแสดงตามโรงละครทั่วไป เพราะต้องมีการจัดฉากประกอบให้ดูสมจริงมากที่สุด
ละครพันทาง
ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ผู้ให้กำเนิดละครพันทางคือ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปยุโรปจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่าน ให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ ๕ และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือ
- ตั้งชื่อโรงละครแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก เรียกว่า "ปรินซ์เทียเตอร์"
- ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
- การแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือ ละครของท่านแสดงสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไปดูก็ไปกันทุกๆสัปดาห์ คือ ไปดูทุกๆวิก มักจะพูดกันว่าไปวิก คือ ไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยา
เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้มีคณะละครต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบทละครเรื่อง "พระลอ (ตอนกลาง)" นำเข้าไปแสดงถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า "คณะละครหลวงนฤมิตร" ได้ทรงนำพระราชพงศาวดารไทยมาทรงพระนิพนธ์เป็นบทละคร เช่น เรื่องวีรสตรีถลาง คุณหญิงโม ขบถธรรมเถียร ฯลฯ ทรงใช้พระนามแฝงว่า "ประเสริฐอักษร" ปรับปรุงละครขึ้นแสดง โดยใช้ท่ารำของไทยบ้าง และท่าของสามัญชนบ้าง ผสมผสานกัน เปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง เรียกว่า "บทละครพระราชพงศาวดาร" และเรียกละครชนิดนี้ว่า "ละครพันทาง"
ผู้แสดง
มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิงแสดงตามบทบาทตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง
การแต่งกาย
ไม่แต่งกายตามแบบละครรำทั่วไป แต่จะแต่งกายตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น แสดงเกี่ยวกับเรื่องมอญ ก็จะแต่งแบบมอญ แสดงเกี่ยวกับเรื่องพม่า ก็จะแต่งแบบพม่า เป็นต้น
เรื่องที่แสดง
ส่วนมากดัดแปลงมาจากบทละครนอก เรื่องที่แต่งขึ้นในระยะหลังก็มี เช่น พระอภัยมณี เรื่องที่แต่งขึ้นจากพงศาวดารของไทยเอง และของชาติต่างๆ เช่น จีน แขก มอญ ลาว ได้แก่ เรื่องห้องสิน ตั้งฮั่น สามก๊ก ซุยถัง ราชาธิราช เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ปรับปรุงจากวรรณคดีเก่าแก่ของภาคเหนือ เช่น พระลอ
การแสดง
ดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง เนื่องจากเป็นละครแบบผสมดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเป็นละครที่ไม่แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นบางแบบต้นเสียง และคู่ร้องทั้งหมดเหมือนละครนอก ละครใน บางแบบต้นเสียงลูกคู่ร้องแต่บทบรรยายกิริยา ส่วนบทที่เป็นคำพูด ตัวละครจะร้องเองเหมือนละครร้อง มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกอยู่บ้าง ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ชมรู้เรื่องราว และเกิดอารมณ์ต่างๆจึงอยู่ที่ถ้อยคำ และทำนองเพลงทั้งสิ้น ส่วนท่าทีการร่ายรำมีทั้งดัดแปลงมาจากชาติต่างๆผสมเข้ากับท่ารำของไทย
ดนตรี
มักนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เรื่องใดที่มีท่ารำ เพลงร้อง และเพลงดนตรีของต่างชาติผสมอยู่ด้วย ก็จะเพิ่มเครื่องดนตรีอันเป็นสัญลักษณ์ของภาษานั้นๆ เรียกว่า "เครื่องภาษา" เข้าไปด้วยเช่น ภาษาจีนก็มีกลองจีน กลองต๊อก แต๋ว ฉาบใหญ่ ส่วนพม่าก็มีกลองยาวเพิ่มเติมเป็นต้น
เพลงร้อง
ที่ใช้ร้องจะเป็นเพลงภาษา สำหรับเพลงภาษานั้นหมายถึงเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ดุริยางคศิลปได้ประดิษฐ์ขึ้น จากการสังเกต และการศึกษาเพลงของชาติต่างๆ ว่ามีสำเนียงเช่นใด แล้วจึงแต่งเพลงภาษาขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทยๆ แต่ดัดแปลงให้มีสำเนียงของภาษาของชาตินั้นๆหรืออาจจะนำสำเนียงของภาษานั้นๆมาแทรกไว้บ้าง เพื่อนำทางให้ผู้ฟังทราบว่า เป็นเพลงสำเนียงอะไร และได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้นๆ เช่น มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา ลาวชมดง ลาวรำดาบ แขกลพบุรี เป็นต้น คนร้องซึ่งมีตัวละคร ต้นเสียง และลูกคู่ จะต้องเข้าใจในการแสดงของละคร เพลงร้อง และเพลงดนตรีเป็นอย่างดี
สถานที่แสดง
แสดงบนเวที มีการจัดฉากไปตามท้องเรื่องเช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์
ละครชาตรี
ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรี" หรือ "ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์" เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓ ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก
ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี" เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ ครั้ง คือ
ใน พ.ศ. ๒๓๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร
ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา" เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น ในสมัยต่อมา การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่" การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ
ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่
การแต่งกาย
ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้ ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง
ในสมัยโบราณ ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ - จันทวาท ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี
การแสดง
เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆ วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์" ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า "คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง
ดนตรี
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า "กลองชาตรี") ๒ และฆ้อง ๑ คู่ แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
เพลงร้อง
ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี" อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง
สถานที่แสดง
ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย แม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ) เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว
ละครร้อง
ละครร้องเป็นศิลปการแสดงแบบใหม่ที่กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ละครร้องได้ปรับปรุงขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ ละครร้องนั้นต้นกำเนิดมาจากการแสดงของชาวมลายู เรียกว่า "บังสาวัน" (Malay Opera) ได้เคยเล่นถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรครั้งแรกที่เมืองไทรบุรี และต่อมาละครบังสาวันได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ โรงที่เล่นอยู่ข้างวังบูรพา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้องเล่นที่โรงละครปรีดาลัย (เดิมสร้างอยู่ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถนนตะนาว) คณะละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นี่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่า "ละครหลวงนฤมิตร" บางครั้งคนยังนิยมเรียกว่า "ละครปรีดาลัย" อยู่ ต่อมาเกิดคณะละครร้องแบบปรีดาลัยขึ้นมากมายเช่น คณะปราโมทัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย วิไลกรุง ไฉวเวียง เสรีสำเริง บันเทิงไทย และนาครบันเทิง เป็นต้น ละครนี้ได้นิยมกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ โรงละครที่เกิดครั้งหลังสุด คือ โรงละครนาคบันเทิงของแม่บุนนาค กับโรงละครเทพบันเทิงของแม่ช้อย
นอกจากนี้ได้เกิดละครร้องขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดัดแปลงละครของชาวตะวันตก จากละครอุปรากรที่เรียกว่า "โอเปอเรติก ลิเบรตโต" (Operatic Libretto) มาเป็นละครในภาษาไทย และได้รับความนิยมอีกแบบหนึ่ง ละครร้องจึงแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. ละครร้องสลับพูด ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ละครร้องสลับพูด ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยกเว้นตัวตลกหรือจำอวดที่เรียกว่า "ตลกตามพระ" ซึ่งใช้ผู้ชายแสดง มีบทเป็นผู้ช่วยพระเอกแสดงบทตลกขบขันจริงๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน
๒. ละครร้องล้วนๆ ใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๖ ) ละครร้องล้วนๆ ใช้ผู้ชาย และผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง
เรื่องที่แสดง
ละครร้องสลับพูด บทละครส่วนใหญ่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้พระนิพนธ์บท และกำกับการแสดง เรื่องที่แสดงได้แก่ ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน เครือณรงค์ กากี ภารตะ สีป๊อมินทร์ (กษัตริย์ธีบอของพม่า) พระยาสีหราชเดโช โคตรบอง สาวเครือฟ้า ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องมาดามบัตเตอร์พลาย (Madame Butterfly) อันเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม และมีผู้นำมาจัดแสดงเสมอ
ละครร้องล้วนๆ เรื่องที่แสดง คือ เรื่องสาวิตรี
การแสดง
ละครร้องสลับพูด มีทั้งบทร้อง และบทพูด ยึดถือการร้องเป็นส่วนสำคัญ บทพูดเจรจาสอดแทรกเข้ามาเพื่อทวนบทที่ตัวละครร้องออกมานั่นเอง แม้ตัดบทพูดออกทั้งหมดเหลือแต่บทร้องก็ยังได้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ มีลูกคู่คอยร้องรับอยู่ในฉาก ยกเว้นแต่ตอนที่เป็นการเกริ่นเรื่องหรือดำเนินเรื่อง ลูกคู่จะเป็นผู้ร้องทั้งหมด ตัวละครจะทำท่าประกอบตามธรรมชาติมากที่สุด ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเรียกว่า "ละครกำแบ"
ละครร้องล้วนๆ ตัวละครขับร้องโต้ตอบกัน และเล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงล้วนๆ ไม่มีบทพูดแทรก มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบถของตัวละคร จัดฉากตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคอุปกรณ์แสงสีเสียงเพื่อสร้างบรรยากาศให้สมจริง
ดนตรี
ละครร้องสลับพูด บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวมหรืออาจใช้วงมโหรีประกอบ ในกรณีที่ใช้แสดงเรื่องเกี่ยวกับชนชาติอื่นๆ
ละครร้องล้วนๆ บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม
เพลงร้อง
ละครร้องสลับพูด ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ในขณะที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า "ร้องคลอ"
ละครร้องล้วนๆ ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีลำนำทำนองไพเราะ
สถานที่แสดง มักแสดงตามโรงละครทั่วไป
ละครหลวงวิจิตรวาทการ
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ กรมศิลปากรได้รวบรวมศิลปิน โขน ละคร และนักดนตรี เข้ามารวมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตั้งเป็นกองขึ้นในกรมศิลปากร ทั้งได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นฝึกฝนนักเรียนด้วย เพื่อรักษาศิลปของชาติไว้มิให้เสื่อมสูญ ในระยะนี้หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านเป็นทั้งนักการทูต และนักประวัติศาสตร์ ท่านจึงมองเห็นคุณค่าทางการละครที่จะใช้เป็นสื่อปลุกใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติ เนื้อหาจะนำมาจากประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง บทละครของท่านจะมีทั้งรัก รบ สะเทือนอารมณ์ ความรักที่มีต่อคู่รัก ถึงแม้จะมากมายเพียงไร ก็ไม่เท่ากับความรักชาติ ตัวเอกของเรื่องสละชีวิต พลีชีพเพื่อชาติ ด้วยเหตุที่ละครของท่านไม่เหมือนการแสดงละครที่มีอยู่ก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกละครของท่านว่า "ละครหลวงวิจิตรวาทการ"
ผู้แสดง มักใช้ผู้แสดงทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แสดงตามบทบาทในเรื่องที่กำหนด
การแต่งกาย
จะมีลักษณะคล้ายละครพันทาง คือจะแต่งกายตามเนื้อเรื่อง และให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ
เรื่องที่แสดง
มักเป็นบทประพันธ์ของท่านที่แต่งขึ้นมีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี เบญจเพส น่านเจ้า อนุสาวรีย์ไทย พ่อขุนผาเมือง ดาบแสนเมือง ชนะมาร เจ้าหญิงกรรณิการ์ สีหราชเดโช ตายดาบหน้า ลานเลือดลานรัก เพชรรัตน์ - พัชรา ลูกพระคเณศ ครุฑดำ โชคชีวิต อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความเสียสละ อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งศีลสัตย์ และเลือดสุพรรณ
การแสดง
มักมีการแสดงต่างๆแทรกอยู่เป็นระยะๆ เช่น การรำอาวุธ การประลองอาวุธ การฟ้อนรำ และระบำต่างๆประกอบเพลง ตลอดจนมีการแสดง และร้องเพลงสลับฉาก นอกจากนี้การแสดงของท่านจะมีทั้งรำร้องเพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล บางเรื่องผู้แสดงร้องเอง นอกจากนี้ละครหลวงวิจิตรวาทการยังมีลักษณะแปลก คือจะชวนเชิญให้ผู้ชมร้องเพลงในละครเรื่องนั้น ซึ่งเนื้อเพลงมีคติสอนใจ ปลุกใจให้รักชาติ จึงเป็นละครที่มีผู้นิยมมาก และจะได้รับแจกเนื้อเพลง สามารถนำมาร้องให้ลูกหลานฟังได้ ในสมัยต่อมาการแสดงฉากสุดท้ายตัวละครทุกตัวจะต้องออกแสดงหมด
ดนตรี
บรรเลงด้วยวงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลประกอบกัน
เพลงร้อง
มีทั้งเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากล โดยมี ๓ ลักษณะ คือ เพลงไทยสากลที่ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกัน มักเป็นเพลงรัก เพลงที่ให้ตัวละครร้องประกอบการแสดง และเพลงปลุกใจ