Custom Search

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พัฒนาการและการสร้างสรรค์ของมนุย์ภูมิภาคอื่นๆ

1

 

   ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาเหนือ

              ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นภูมิหลังของประเทศสหรัฐอเมริกา สรุปได้ดังนี้

              1 แหล่งอารยธรรมของชนเผ่าอินเดียนแดงในสมัยโบราณ  แต่เดิมก่อนที่ชนชาติยุโรปจะรู้จักทวีปอเมริกาเหนือ  ดินแดนในประเทศเม็กซิโกเคยเป็นถิ่นฐานที่อยู่ของพวกอินเดียนแดงเผ่าแอซแตก (Aztecs) มาก่อน

              2 การสำรวจและตั้งถิ่นฐาน เมื่อโคลัมบัส (Christopher  Columbus)  นักสำรวจทางทะเลชาวอิตาลี ได้ค้นพบ โลกใหม่ หรือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1492  สเปนเป็นประเทศยุโรปชาติแรกที่เข้ามาสำรวจดินแดนทวีปใหม่แห่งนี้  ต่อมาได้ส่งกำลังเข้ายึดครองกรุงเม็กซิโก นครหลวงของจักรวรรดิแอซแตก ทำให้ชาติยุโรปอื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาจับจองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคมของตนเช่นกัน

              3 การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนชาวยุโรป  นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา มีชาวยุโรปหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน เช่น ต้องการจับจองที่ดินที่อุดมสมบูรณ์  แสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติ และต้องการสิทธิและเสรีภาพ ทั้งในด้านการเมืองและการนับถือศาสนา

              4 การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษได้ตั้งถิ่นฐานเป็นอาณานิคมตามบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างมั่นคง  แต่รัฐบาลอังกฤษปกครองอาณานิคมอย่างเอาเปรียบ  เช่น  บังคับให้ต้องจ่ายภาษี ทำให้ชาวอาณานิคมเรียกร้องขอให้มีผู้แทนของตนในรัฐสภาอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษกลับไม่ยินยอมและได้ออกกฎหมายบีบคั้นชาวอาณานิคมอีกหลายฉบับ

ในที่สุด  ชาวอาณานิคมจึงทำสงครามประกาศเอกราชจากอังกฤษ เรียกว่า การปฏิวัติของชาวอเมริกัน (ค.ศ. 1776-1781) เมื่อได้รับชัยชนะจึงประกาศเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา

              5 รูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาภายหลังได้รับเอกราช เป็นการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal  Republic)  ประกอบด้วยมลรัฐ  13  มลรัฐมารวมกัน  มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1791 เป็นต้นไป

              6 การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในระยะเริ่มแรก  คือ แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของยุโรป ต่อมาในปี ค.ศ. 1823 ได้ประกาศ หลักการมอนโร (Monroe Doctrin) โดยห้ามมิให้ประเทศในยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ในทวีปอเมริกา

              7 สงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) เป็นสงครามระหว่างมลรัฐฝ่ายเหนือกับมลรัฐฝ่ายใต้ โดยมีสาเหตุเกิดจากการประกาศเลิกทาสของรัฐบาลประธานาธิบดี อับราฮัม  ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ซึ่งชาวอเมริกันทางใต้ไม่เห็นด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายและยาสูบ

สมรภูมิของสงครามเกิดในมลรัฐทางใต้และสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของชาวอเมริกันทางใต้  เป็นผลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1865 ให้เลิกทาสทั่วประเทศ  รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ จากเดิมที่เคยทำไร่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ต้องเปลี่ยนมาทำฟาร์มขนาดเล็กแทน

              8 การบุกเบิกดินแดนตะวันตก ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง สหรัฐอเมริกาเริ่มพัฒนาความเจริญและขยายการผลิตของประเทศ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ ไปยังดินแดนตะวันตกของทวีป โดยเฉพาะบริเวณที่ราบเกรตเพลน (Great  Plain)  ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุและป่าไม้

              9 สหรัฐอเมริกาก้าวสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจ ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มั่งคั่ง ขยายตลาดการค้าไปทั่วโลก และพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

สหรัฐฯ จึงเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป มีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าของคนอเมริกัน  และกลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

              10 บทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลก ครั้งที่ 1 และสงครามโลก ครั้งที่ 2

สงครามโลก  ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918)  สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามในปี ค.ศ. 1917 และมีบทบาทช่วยให้สงครามยุติลงโดยเร็ว เมื่อประธานาธิบดี วูดโร  วิลสัน (Woodrow  Wilson) ได้ประกาศนโยบาย 14 ข้อ  เป็นหลักในการยุติสงคราม และเสนอให้จัดตั้ง องค์การสันนิบาตชาติ เพื่อรักษาสันติภาพของโลก

สงครามโลก  ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1936-1945) สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามในปี ค.ศ. 1941 เพื่อช่วยเหลือประเทศพันธมิตรต่อต้านลัทธิเผด็จการทางทหารของเยอรมนีและญี่ปุ่น เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง องค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อรักษาสันติภาพของโลก ในช่วงตอนปลายของสงคราม สหรัฐฯ ได้ใช้ระเบิดปรมาณูทำให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย และสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงยุติลงในที่สุด

 

    พัฒนาการทางการเมือง และการปกครองของทวีปอเมริกาเหนือ

              1 การเมืองและการปกครองของสหรัฐอเมริกา

(1) สหรัฐอเมริกามีรูปแบบการปกครองเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ (หรือรัฐรวม) ประกอบด้วยมลรัฐต่างๆ 50 มลรัฐ บริหารกิจการภายในของตนเอง (ผู้ว่าการมลรัฐมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง)

(2) มีรัฐบาลกลางที่เมืองหลวง (กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) โดยมีประธานาธิบดี (มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง) เป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งมีอำนาจควบคุมเฉพาะกิจการสำคัญของประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ การทหาร  การคลัง และการต่างประเทศ

(3) รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาแบ่งอำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น  3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา), ฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) และฝ่ายตุลาการ (ศาล) อำนาจทั้งสามต่างเป็นอิสระต่อกัน คอยตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นแบบอย่างของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก

              2 การเมืองการปกครองของแคนาดา

(1) แคนาดาเป็นประเทศในเครือจักรภพ  มีรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาของอังกฤษ มีสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข  และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร

(2) มีการปกครองแบบรัฐรวม ประกอบด้วยมณฑลต่างๆ 10 มณฑล  มีรัฐบาลกลางที่เมืองหลวง (กรุงออตตาวา)  และรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑล  บริหารกิจการภายในมณฑลของตน

              3 การเมืองการปกครองของเม็กซิโก

(1) เม็กซิโกเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ถอดรูปแบบการปกครองจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด มีประธานาธิบดี (มาจากการเลือกตั้งของประชาชน) เป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร

(2) มีการปกครองแบบรัฐรวม  ประกอบด้วยรัฐต่างๆ 31 รัฐ  มีรัฐบาลของแต่ละรัฐบริหารกิจการภายในของรัฐตน และมีรัฐบาลกลางที่เมืองหลวง (กรุงเม็กซิโก  ซีตี) ทำหน้าที่บริหารประเทศ

 

      พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาเหนือ

1 กลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจระดับสูง  ได้แก่  สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้ชื่อว่าเป็นประเทศทุนนิยม และเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก อีกทั้งยังมีความเจริญก้าวหน้าทางเกษตรกรรม การค้าระหว่างประเทศ เทคโนโลยีในด้านต่างๆ และความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ

2 กลุ่มประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง ได้แก่  เม็กซิโก และกลุ่มประเทศในอเมริกากลาง  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง  มีฐานะยากจน การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังล้าหลัง เพราะขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

     สภาพสังคมและวัฒนธรรมของประชากรในทวีปอเมริกาเหนือ

              ประชากรในทวีปอเมริกาเหนือมีหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน จึงมีสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างกัน ในที่นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

              1 กลุ่มแองโกล-อเมริกา คือ ประชากรผิวขาวในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมีเชื้อสายชาวยุโรป มีวิถีชีวิตแบบคนในสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม มีมาตรฐานการดำเนินชีวิตที่สูง พึ่งพาเทคโนโลยี มีระเบียบวินัยในการทำงาน และเห็นคุณค่าของการศึกษา

              2 กลุ่มลาติน-อเมริกา เป็นประชากรส่วนใหญ่ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง ซึ่งมีเชื้อสายเมสติโซ (Mestizo) คือ อินเดียนแดงผสมกับชาวยุโรป มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรม ผู้คนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  ขาดการศึกษา และมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างอินเดียนแดงกับสเปน

 

    ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของทวีปอเมริกาใต้

              ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

              1 สภาพภูมิประเทศ  พื้นที่ของทวีปอเมริกาใต้ประกอบด้วยลักษณะภูมิประเทศ 3 เขต ดังนี้

(1) เขตเทือกเขาและที่ราบสูงภาคตะวันตก ประกอบด้วยเทือกเขาแอนดีส (Andes) ทอดตัวยาวเหยียดขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเขตที่มีทะเลทราย เทือกเขา และที่ราบสูง

(2) เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน (Amazon) บริเวณตอนกลางของทวีปเป็นที่ราบกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของทวีป เป็นเขตที่ราบเพาะปลูกและป่าดงดิบ

(3) เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก ที่สำคัญได้แก่ ที่ราบสูงบราซิล มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก มีทุ่งหญ้าเมืองร้อนปกคลุมทั่วไป

              2 สภาพภูมิอากาศ  ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ตั้งอยู่ในละติจูดที่เป็นเขตร้อนและเขตอบอุ่น สภาพภูมิอากาศจึงเป็นแบบร้อนชื้น แบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน  แบบทะเลทราย และแบบอบอุ่นชื้น เป็นต้น ไม่มีภูมิอากาศหนาวเย็นแบบขั้วโลก

 

     ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาใต้

              ความเป็นมาของดินแดนทวีปอเมริกาใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

              1 ถิ่นฐานดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ก่อนที่ชาติตะวันตกจะเข้ามา ทวีปอเมริกาใต้เป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชนเผ่าอินคา (Incas) ได้ก่อตั้งจักรวรรดิของตนขึ้น บริเวณดินแดนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านตะวันตกของทวีป)

              2 สเปนเข้าครอบครองดินแดนอเมริกาใต้  ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  สเปนทำสงครามรบชนะพวกอินคา และสร้างจักรวรรดิของตนขึ้นแทน มีอาณาเขตตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกอบโกยทรัพยากรแร่เงินและทองคำ และเผยแพร่คริสต์ศาสนา

              3 โปร์ตุเกสมีอำนาจปกครองดินแดนบราซิล โดยตั้งสถานีการค้ามุ่งเก็บหาของป่าเพื่อนำไปขายในยุโรป  พ่อค้าโปร์ตุเกสบางกลุ่มกวาดต้อนชาวนิโกรจากแอฟริกาเข้ามาขายเป็นทาสแรงงาน ทั้งในอาณานิคมของตนและอาณานิคมของสเปน

              4 การเรียกร้องเอกราชของชาวอาณานิคม ภายหลังที่สเปนและโปร์ตุเกสปกครองดินแดนอเมริกาใต้เกือบ 300 ปี  ชาวอาณานิคมซึ่งประกอบด้วยชนผิวขาวและเลือดผสมชาวพื้นเมือง ได้ก่อกบฏและประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากประเทศแม่  ตั้งแต่ ค.ศ. 1810 เป็นต้นมา

              5 สาเหตุการเรียกร้องเอกราชของชาวอาณานิคม  คือ ความไม่พอใจที่ถูกกอบโกยทรัพยากร  ความมั่งคั่ง และผลประโยชน์อื่นๆ อย่างไม่เป็นธรรม  รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789

              6 ผู้นำชาวอาณานิคมในการทำสงครามต่อสู้เรียกร้องเอกราช มี 2 คน ได้แก่ อาณานิคมทางตอนเหนือของทวีป คือ ซิโมน  โบลิวาร์ (Simon  Bolivar) ชาวเวเนซูเอลา และทางตอนใต้ของทวีป คือ โฮเซ  เดอ ซานมาร์ติน (Jose  de  San  Martin)  ชาวอาร์เจนตินา

 

    พัฒนาการด้านการเมืองและการปกครองของประเทศในอเมริกาใต้

              สภาพการเมือง การปกครองของประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้ ภายหลังได้รับเอกราชจากสเปนและโปร์ตุเกส ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  สรุปได้ดังนี้

              1 การได้รับเอกราช ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ได้รับเอกราชในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา  ซึ่งยึดตามหลัก วาทะมอนโร  ใน ค.ศ. 1823 ที่ต้องการให้อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้เป็นดินแดนที่ปลอดจากการแทรกแซงและการแสวงหาผลประโยชน์จากชาติยุโรป

              2 การปกครองขาดเสถียรภาพและมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ ประเทศในทวีปอเมริกาใต้มีรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญและมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่ต้องประสบปัญหาความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ บางประเทศจึงถูกแทรกแซงจากทหาร หรือการใช้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารของประธานาธิบดี คงมีประเทศอุรุกวัยชาติเดียวที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง

              3 ตัวอย่างประเทศที่ทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในระบอบประชาธิปไตย คือ ประเทศชิลี ในปี ค.ศ. 1973 โดยการนำของ นายพล ออกุสโต  ปิโนเซต์ (Augusto  Pinochet)  ผู้นำทางทหารในสมัยนั้น เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้

              3 การจัดตั้งองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States : OAS) เป็นการรวมตัวของประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาจำนวน  28 ประเทศ  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและการปกครองและปัญหาอื่นๆ

 

    พัฒนาการด้านเศรษฐกิจของประเทศในอเมริกาใต้

              ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง เป็นประเทศกำลังพัฒนา สรุปพัฒนาการทางเศรษฐกิจได้ดังนี้

              1 โครงสร้างทางเศรษฐกิจเน้นการผลิตภาคเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แต่ละประเทศมีรายได้หลักจากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพียง 1-2 ชนิด เช่น บราซิล และโคลัมเบียผลิตกาแฟ  อาร์เจนตินาและอุรุกวัยส่งออกเนื้อสัตว์และข้าวสาลี เป็นต้น

              2 มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ธาตุ  ป่าไม้ และผลผลิตจากการประมงทางทะเล  แต่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยังไม่เจริญก้าวหน้ามากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปและแองโกลอเมริกา มีเพียงอาร์เจนตินาประเทศเดียวที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าชาติอื่นๆ ในอเมริกาใต้

 

    ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของอเมริกาใต้

              1 ลักษณะประชากรของทวีปอเมริกาใต้ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง กลุ่มชนชาติยุโรป  กลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากทวีปแอฟริกา และกลุ่มเชื้อชาติผสม  เช่น พวกเมสติโซ (Mestizos)  ซึ่งมีเชื้อสายอินเดียนแดงกับชาวยุโรป เป็นต้น

              2 ลักษณะทางวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมแบบละตินอเมริกา  ซึ่งมีรากฐานมาจากผู้คนจากยุโรปใต้ (สเปนและโปร์ตุเกส) ภาษาราชการที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาสเปน ยกเว้น บราซิล ใช้ภาษาโปร์ตุเกส เนื่องจากเคยเป็นอาณานิคมของโปร์ตุเกสมาก่อน

              3 ลักษณะทางศาสนา การนับถือศาสนาของประชาชนในแต่ละประเทศได้รับแบบอย่างจากประเทศเมืองแม่ที่เคยเป็นเจ้าของอาณานิคมมาก่อน  โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับโปร์ตุเกสและสเปน  ส่วนประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เช่น กายอานา  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตสแตนท์

 

     ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมของทวีปแอฟริกา

              ทวีปแอฟริกาได้ชื่อว่ามีการพัฒนาล้าหลังกว่าทวีปอื่นๆ มาก ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม ดังนี้

              1 ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ  พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกาเป็นที่ราบสูง มีทะเลทรายสะฮาราครอบคลุมดินแดนอันกว้างใหญ่ทางตอนเหนือของทวีป จึงกลายเป็นบริเวณที่มีความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาสำคัญทางตอนเหนือของทวีป คือ เทือกเขาแอตลาส (Atlas)

         ส่วนตอนกลางของทวีปเป็นเขตศูนย์สูตร อากาศร้อนชื้นและมีฝนตกชุก  จึงมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบ เช่น ป่าดงดิบในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก  สภาพดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง

              2 ลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ชายฝั่งทะเลของทวีปแอฟริกาไม่เว้าแหว่งมากนัก จึงขาดเมืองท่าขนส่งสินค้าทางทะเล นอกจากนี้ แม่น้ำสายยาวของทวีปจะไม่ไหลลงทะเล ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการคมนาคมขนส่งได้

 

      ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของทวีปแอฟริกา

              ทวีปแอฟริกามีภูมิหลังความเป็นมา โดยสรุป ดังนี้

              1 บริเวณตอนเหนือของทวีปมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ก่อนที่ชนชาติตะวันตกจะเดินทางเข้ามา ได้แก่ อารยธรรมอียิปต์โบราณในบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 ดินแดนทางตอนเหนือถูกพวกอาหรับเข้ายึดครองและยอมรับในวัฒนธรรมอาหรับและศาสนาอิสลามมาจนถึงปัจจุบัน

              2 การก่อตั้งราชอาณาจักรทางตะวันตกของทวีป  ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4-17 โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง ได้แก่  ราชอาณาจักรกานา (Ghana) และราชอาณาจักรมาลี (Mali) เป็นต้น มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้า

              3 การก่อตั้งนครรัฐบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12-16 มีนครรัฐเกิดขึ้นจำนวนมาก  เรียกรวมกันว่า นครรัฐสวาฮิลี (Swahili  City-States) เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลมีการติดต่อทางการค้ากับพ่อค้าอาหรับ  อินเดีย และจีน

              4 การสำรวจทางทะเลของโปร์ตุเกส ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เริ่มต้นเมื่อนักเดินเรือชาวโปร์ตุเกสเข้ามาสำรวจชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาเพื่อแสวงหาเส้นทางไปยังอินเดีย ดังนี้

(1) บาร์โทโลมิว  ดิอาช (Bartholomew  Dias) ประสบความสำเร็จในการแล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ในปี ค.ศ. 1488

(2) วาสโก  ดา  กามา (Vasco  da  Gama) แล่นเรือสำรวจตามหาเส้นทางเดิมของดิอาช คือ ชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาจนถึงชายฝั่งอินเดียได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1498

              5 การเข้ามาแสวงผลประโยชน์ของชาติตะวันตก เมื่อโปร์ตุเกสประสบผลสำเร็จในการสำรวจเส้นทางเดินเรือ ทำให้ชาติตะวันตกอื่นๆ เข้ามาตั้งสถานีการค้าตามชายฝั่งของทวีปแอฟริกาเพื่อแข่งขันกับโปร์ตุเกส สินค้าที่ชาติยุโรปต้องการ คือ ทองคำ  เครื่องเทศ  งาช้าง และของป่าอื่น ฯลฯ รวมทั้งแรงงานทาสชาวพื้นเมือง

              6 การสร้างอาณานิคมของชาติตะวันตกในทวีปแอฟริกา  ในระหว่าง ค.ศ. 1867-1897 ดินแดนในทวีปแอฟริกาตกเป็นอาณานิคมของชาติยุโรปจนเกือบหมด  ส่วนใหญ่เป็นของอังกฤษและฝรั่งเศส  ชาวยุโรปนิยมตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของทวีป  เพราะมีสภาพอากาศอบอุ่นและเป็นแหล่งแร่ทองคำและเพชร (ในปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้)

              7 การเรียกร้องเอกราชของชาวแอฟริกัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ชนชาติแอฟริกันส่วนใหญ่ต้องเสียเลือดเนื้อในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช และได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสรภาพโดยลำดับมา โดย กานา (Ghana) ได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นชาติแรก ในปี ค.ศ. 1957

 

       พัฒนาด้านการเมือง การปกครองของประเทศในทวีปแอฟริกา

              1 ปัญหาความขัดแย้งภายในชาติภายหลังได้รับเอกราช มีหลายประเทศต้องประสบปัญหาความขัดแย้งภายในชาติอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เช่น ไนจีเรีย  คองโก (แซร์)  และอูกันดา  เป็นต้น

ทั้งนี้ มีสาเหตุเกิดจากความแตกต่างในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ (Tribes) ซึ่งผู้คนจากเผ่าต่างๆ มีความจงรักภักดีกับชนเผ่าเดิมของตนมากกว่าการอยู่รวมเป็นประเทศเดียวกันกับคนต่างเผ่า

              2 สภาพการเมืองการปกครอง  ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกามีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกับประเทศตะวันตกเจ้าของอาณานิคมเดิมของตน เช่น  มีรัฐสภา  ประธานาธิบดี และพรรคการเมือง  แต่มักประสบปัญหาขาดความมั่นคงทางการเมือง  โดยมีการก่อรัฐประหารแย่งชิงอำนาจจากกลุ่มทหารอยู่เนืองๆ

              3 สาเหตุที่ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกาขาดเสถียรภาพทางการเมือง มีดังนี้

(1) ปัญหาความแตกต่างของประชากรในด้านเชื้อชาติ  เผ่าพันธุ์  ภาษา  วัฒนธรรม และประเพณี  ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพและเกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

(2) ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะความยากจน ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาล

(3) ปัญหาขาดประสบการณ์และความชำนาญในการปกครองตนเอง  โดยนักการเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ขาดการศึกษา  ขาดความรู้และความเข้าใจในวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

    พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในทวีปแอฟริกา

              1 โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา  มีรายได้หลักจากการปลูกพืชเมืองร้อน  เลี้ยงสัตว์  ประมง และทำเหมืองแร่

              2 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชากรกว่าร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในชนบท และมีฐานะยากจน  ยกเว้น  สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด โดยมีรายได้หลักจากเหมืองแร่ทองคำและเพชร รวมทั้งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้ามากที่สุดในทวีป

              3 สาเหตุที่ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกามีความล้าหลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีดังนี้

(1) มีรายได้หลักจากผลผลิตทางการเกษตรหรือวัตถุดิบแร่ธาตุเพียง 1-2 ชนิด  เมื่อเกิดปัญหาราคาผลผลิตในตลาดโลกตกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหาย  ทั้งนี้  เป็นผลจากการชี้นำของประเทศเจ้าของอาณานิคมในอดีตที่เน้นให้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวเพื่อป้อนตลาดในยุโรป

(2) ความยากลำบากในการใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า  ผลผลิต  และวัตถุดิบจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติออกสู่ตลาด  โดยเฉพาะการขนส่งทางแม่น้ำ  บางแห่งต้องไหลผ่านพื้นที่สูงชัน ไม่สามารถเดินเรือสินค้าได้ หรือสภาพภูมิประเทศเป็นทะเลทราย  ป่าดงดิบ หรือที่ราบสูง ฯลฯ เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาเส้นทางรถไฟ

(3) การเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่มีสภาพแห้งแล้ง ฝนตกน้อย  ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการชลประทานและเทคโนโลยีในการผลิต

(4) ประชากรมีอัตราการเพิ่มสูง  ขาดการศึกษา  ขาดแรงงานที่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพของประชากรอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ  รวมทั้งขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

      สภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของทวีปแอฟริกา

(1) ลักษณะของประชากร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

- พวกแอฟริกันผิวดำ  เป็นชนส่วนใหญ่ของทวีป  มีมากกว่า 3,000 กลุ่ม  เช่น พวกปิกมี (Pygmies), พวกทุตซี (Tutsi) และพวกบุชเมน (Bushmen) เป็นต้น

- พวกคอเคเซียน แบ่งเป็น  2 กลุ่ม  พวกที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีป เป็นเชื้อสายอาหรับ และพวกที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของทวีปเป็นพวกที่อพยพมาจากยุโรป

(2) ลักษณะทางศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา  รองลงมาเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม  ซึ่งมีประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด และยังมีผู้นับถือลัทธิความเชื่อในวิญญาณของแต่ละท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง

(3) ลักษณะของวัฒนธรรมทางภาษา  มีภาษาพูดมากกว่า  1,000 ภาษา  แต่ประเทศส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ

 

      ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของทวีปออสเตรเลีย

              พื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของทวีปออสเตรเลียมีสภาพอากาศแห้งแล้ง เป็นทะเลทรายหรือทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย  มีปริมาณฝนน้อย ไม่เหมาะในการตั้งถิ่นฐานของประชากร

              1 ทวีปออสเตรเลียมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ ดินแดนภาคตะวันตกเป็นเขตที่ราบสูงและทะเลทราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 2 ใน 3 ของทวีป  เป็นเขตแห้งแล้งและทุรกันดาร และมีเทือกเขาสูงทางภาคตะวันออกของทวีป  คือ เทือกเขาเกรตดิไวดิง (Great  Dividing  Range)

              2 บริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานของประชากรมากที่สุด คือ บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป  ซึ่งมีภูมิอากาศอบอุ่นเหมือนยุโรปตะวันตก  และบริเวณภาคตะวันออก  ซึ่งเป็นเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์  ดาร์ลิง  มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ

 

        ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของทวีปออสเตรเลีย

              1 ชนพื้นเมืองเดิมในทวีปออสเตรเลีย คือ พวกอะบอริจินิส (Aborigines) อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลความเจริญ  มีมากกว่า  500 เผ่า  ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า  มีจำนวนประชากรประมาณ  300,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1.5 ของประชากรออสเตรเลียทั้งหมด

              2 การสำรวจของชาติตะวันตก นักสำรวจทางทะเลชาวดัตช์ ซึ่งนำโดย วิลเล็ม  เจนซ์ (Willem  Jansz) เป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่ได้พบทวีปออสเตรเลีย เมื่อ ค.ศ. 1606 ต่อมามีนักเดินเรือชาวดัตช์อีกหลายคนเดินทางเข้ามาสำรวจ โดยเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า นิวฮอลแลนด์ (New  Halland) แต่ก็ไม่สนใจที่จะยึดเป็นอาณานิคมของตน เพราะเห็นว่าเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง

              3 การยึดครองของอังกฤษ กัปตันเจมส์  คุก (James  Cook) นักเดินเรือชาวอังกฤษ  เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เดินทางมาถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 1769 โดยเห็นว่ามีอากาศอบอุ่น และมีความอุดมสมบูรณ์

              4 อังกฤษส่งนักโทษเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  ต่อมาในปี ค.ศ. 1787 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศยึดครองออสเตรเลียเป็นอาณานิคมของตนเอง โดยจัดส่งนักโทษทั้งหญิงและชายมาตั้งถิ่นฐานจำนวน 759 คน พร้อมทั้งแต่งตั้งข้าหลวงเป็นผู้ปกครอง

 

         พัฒนาการทางด้านการเมือง การปกครองของประเทศออสเตรเลีย

              1 การตั้งถิ่นฐานของเสรีชนในทวีปออสเตรเลีย นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1821  เป็นต้นมา  รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนชาวอังกฤษเข้ามาตั้งแต่ถิ่นฐานในทวีปออสเตรเลียมากขึ้น มิใช่เป็นแหล่งเนรเทศนักโทษเหมือนดังแต่ก่อน

              2 สภาพการเมือง การปกครองในระยะแรกๆ มีการจัดตั้งรัฐต่างๆ โดยมีข้าหลวงของแต่ละรัฐเป็นผู้ปกครอง ต่อมาในปี ค.ศ. 1851 มีการค้นพบแร่ทองคำในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ทำให้มีชาวอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโชคลาภจำนวนมาก  ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี  จึงต้องมีการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของตนจากรัฐบาลอังกฤษ

              3 พัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของออสเตรเลีย มีความเจริญก้าวล้ำนำหน้าประเทศอังกฤษและชาติตะวันตกอื่นๆ หลายประการ อาทิเช่น

(1) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยวิธีลับ โดยเริ่มต้นที่รัฐวิกตอเรีย ในปี ค.ศ. 1856 ออสเตรเลียจึงเป็นชาติแรกที่ใช้วิธีการดังกล่าว

(2) การให้สิทธิทางการเมืองแก่สตรี โดยให้สตรีมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งและมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ โดยเริ่มต้นที่รัฐเซาท์ออสเตรเลียก่อน ในปี ค.ศ. 1894

              4 การจัดตั้ง เครือรัฐออสเตรเลีย  ในปี ค.ศ. 1901 รัฐต่างๆ ในออสเตรเลียรวมตัวเป็นประเทศเดียวกัน  มีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federation)  มีรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร

ในปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นประเทศสมาชิกในเครือจักรภพอังกฤษ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นองค์พระประมุขของออสเตรเลีย และทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเป็นผู้แทนพระองค์ประจำในออสเตรเลีย

 

     พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของออสเตรเลีย

              1 ประเทศออสเตรเลียมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจระดับสูง  จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  โครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก  เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร

              2 การทำปศุสัตว์ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย เนื่องจากมีทุ่งหญ้ากว้างโดยเฉพาะการเลี้ยงแกะพันธุ์ขน (พันธุ์เมอริโน) รองลงมาเป็นโคเนื้อ และโคนมตามลำดับ แหล่งสำคัญ คือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งมีอากาศอบอุ่น

              3 การเพาะปลูก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวสาลี ปลูกมากในเขตอากาศอบอุ่นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ แถบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิง

              4 การพัฒนาเกษตรกรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 20-21 มีการนำพืชผักผลไม้ ทั้งพืชเมืองร้อนและพืชเมืองหนาวมาปลูกในออสเตรเลีย เช่น อ้อย สับปะรด และยาสูบ โดยปรับปรุงพันธุ์และใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเข้าช่วย  ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน

              5 การพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศออสเตรเลียพัฒนาอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้ามาก เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรแร่ธาตุและวัตถุดิบต่างๆ มีเงินทุนสูง  มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีประชากรที่มีคุณภาพ

อุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมการเกษตร  เช่น  การทอผ้าขนสัตว์  สิ่งทอ  เนื้อสัตว์ และอาหารกระป๋อง ฯลฯ และอุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตรถยนต์  เครื่องจักรการเกษตร  การต่อเรือ และการกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

 

       สภาพสังคมและวัฒนธรรมของประเทศออสเตรเลีย

              1 สังคมออสเตรเลียเป็นสังคมของชาวตะวันตก เมื่อแรกก่อตั้งอาณานิคม ผู้คนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในทวีปออสเตรเลียเป็นชนชั้นกลางของชาวอังกฤษและนับถือคริสต์ศาสนา ไม่มีพวกขุนนางหรือชนชั้นสูง ทำให้ออสเตรเลียเป็นสังคมของชาวตะวันตกที่ผู้คนมีความเสมอภาคทางชนชั้น

              2 นโยบายสร้างสังคมออสเตรเลียเฉพาะคนผิวขาว  ในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีชาวจีนจากทวีปเอเชียอพยพเข้ามาแสวงโชคในออสเตรเลีย และด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้ชาวอาณานิคมเกิดความรังเกียจและต่อต้าน

ในที่สุดรัฐบาลออสเตรเลียได้ผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนผิวเหลือง จากเอเชียและรวมถึงคนผิวดำหรือผิวสีจากภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เรียกว่า นโยบายออสเตรเลียสำหรับคนผิวขาว (White  Australia  Policy)  ซึ่งในปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960

              3 การสร้างสังคมนานาชาติ  ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 ออสเตรเลียเริ่มเปิดตัวต่อสังคมโลกมากขึ้น โดยยอมรับการอยู่ร่วมกันเป็น สังคมนานาชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เช่น เปิดโอกาสให้ชาวยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานได้ และสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากเอเชียเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น

              4 การให้สิทธิความเสมอภาคแก่ชาวพื้นเมือง  ในปี ค.ศ. 1967  รัฐบาลออสเตรเลีย ให้สิทธิความเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์แก่ชาวพื้นเมือง  อะบอริจินิส  โดยมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในด้านต่างๆ เป็นต้น